คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3667/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับแก่คดีเยาวชนและครอบครัวเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เมื่อตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ ได้มีบทบัญญัติในมาตรา 83 ว่า ในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวจำเลยจะมีทนายความแก้คดีแทนไม่ได้ แต่ให้จำเลยมีที่ปรึกษากฎหมายเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทำนองเดียวกันกับทนายความได้ ในกรณีที่จำเลยไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย ให้ศาลแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้ เว้นแต่จำเลยนั้นไม่ต้องการและศาลเห็นว่า ไม่จำเป็นแก่คดี จะไม่แต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายก็ได้ ดังนั้น การแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติดังกล่าว มิอาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 มาใช้บังคับได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2545 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2545)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นเยาวชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 289, 339 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ทายาทผู้ตายด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ และแถลงไม่ต้องการที่ปรึกษากฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 339 วรรคท้าย, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ประกอบด้วยมาตรา 52 (2) ลงโทษจำคุก 30 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกมีกำหนด 15 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 10,000 บาท แก่ทายาทของนางอนงค์ ยิ้มชาญกาญจน์ ผู้ตาย และจำนวน 1,000 บาท แก่ทายาทของนายชลอ ภู่พัฒน์ ผู้ตาย ด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่โดยให้ตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้จำเลยก่อนทำการสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่แต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้จำเลยนั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ซึ่งศาลชั้นต้นต้องถามจำเลยก่อนเริ่มพิจารณาว่า จำเลยมีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคแรก ก็ตาม แต่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้สำหรับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาที่ได้กระทำในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดา ส่วนในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับแก่คดีเยาวชนและครอบครัวเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เมื่อตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ได้มีบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 83 ว่า ” ในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว จำเลยจะมีทนายความแก้คดีแทนไม่ได้ แต่ให้จำเลยมีที่ปรึกษากฎหมายเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทำนองเดียวกันกับทนายความได้ ในกรณีที่จำเลยไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย ให้ศาลแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้ เว้นแต่จำเลยนั้นไม่ต้องการและศาลเห็นว่าไม่จำเป็นแก่คดี จะไม่แต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายก็ได้” ดังนั้น การแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ไม่ว่าความผิดที่จำเลยถูกฟ้องนั้นมีอัตราโทษประหารชีวิตหรือไม่ก็ตาม ให้ศาลแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้จำเลย เว้นแต่จำเลยไม่ต้องการที่ปรึกษากฎหมายและศาลเห็นว่าที่ปรึกษากฎหมายไม่จำเป็นแก่คดี เมื่อเข้าข้อยกเว้นทั้งสองประการนี้แล้ว ศาลจะไม่แต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้จำเลยก็ได้ บทกฎหมายดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกฎหมายเฉพาะ ย่อมยกเว้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 อันเป็นกฎหมายทั่วไป และไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าวซึ่งขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาใช้ในกรณีนี้ได้ เหตุนี้เมื่อจำเลยซึ่งอายุเกินสิบแปดปีบริบูรณ์แล้วขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง แต่เนื่องจากขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์จึงต้องดำเนินคดีในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 5 การแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้จำเลย ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา 83 อันเป็นบทเฉพาะ หาใช่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 อันเป็นบททั่วไปไม่ การที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว จดรายงานกระบวนพิจารณาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 ว่า “นัดสอบถามวันนี้ อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาตามฟ้อง และไม่ต้องการที่ปรึกษากฎหมายจำเลย ศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องตั้งที่ปรึกษากฎหมายจำเลย จึงให้นัดสืบพยานประกอบคำรับสารภาพในวันที่…” เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 83 ครบถ้วนทุกประการแล้ว และถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมและถูกต้องแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยเห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นไม่ชอบนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีใหม่ แล้วพิพากษาตามรูปคดี.

Share