แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีอาญาโจทก์ได้แก้อุทธรณ์ว่าอุทธรณ์ของจำเลยเกินกำหนดเวลาที่จะยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ กรณีจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2)ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สอง แม้จะยื่นภายหลังจากล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตขยายให้ในครั้งแรกแล้วก็ตาม แต่ตามคำร้องของจำเลยดังกล่าว ได้แสดงเหตุว่ากรณีมีเหตุสุดวิสัยที่มิอาจยื่นคำร้องได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องเป็นเหตุสุดวิสัยอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ จึงเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะสั่งตามที่เห็นสมควร คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษจำคุก 3 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน 15 วันนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า อุทธรณ์ของจำเลยเกินกำหนดเวลาที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยให้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ได้แก้อุทธรณ์ว่าอุทธรณ์ของจำเลยเกินกำหนดเวลาที่จะยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ กรณีจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แต่เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวน คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2541 ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2541 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่หนึ่งออกไปอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์จนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2541 แต่จำเลยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ในระยะเวลาดังกล่าว ครั้นในวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ครั้งที่สอง แม้จะยื่นภายหลังจากล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตขยายให้แล้วก็ตาม แต่ตามคำร้องของจำเลยดังกล่าวได้แสดงเหตุว่ากรณีมีเหตุสุดวิสัยที่มิอาจยื่นคำร้องได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องเป็นเหตุสุดวิสัยอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 จึงเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะสั่งตามที่เห็นสมควร คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ จึงชอบแล้ว เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์วันที่ 29 กรกฎาคม 2541 จึงยังไม่เกินกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นขยายให้ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ให้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว”
พิพากษายืน