คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 807/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.ฎ. กำหนดแนวทางหลวงฯ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15กรกฎาคม 2521 ซึ่งตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน2515 ข้อ 78 และข้อ 79 บัญญัติว่าให้ใช้ได้มีกำหนด 10 ปี แม้ต่อมาได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2530 ใช้บังคับซึ่งมาตรา 7 ให้ยกเลิกความในส่วนที่ 3 ข้อ 63 ถึง 80 แล้วก็ตาม แต่ในมาตรา 9วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ร.ฎ. กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างและประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน ซึ่งออกโดยอาศัยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ให้คงใช้บังคับได้ตามอายุของ พ.ร.ฎ นั้นและวรรคสองของมาตรานี้บัญญัติทำนองเดียวกับมาตรา 36 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ว่าด้วยการเวนคืนและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันใช้บังคับ พ.ร.บ.นี้ให้เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ดังนั้น พ.ร.ฎ. กำหนดแนวทางหลวงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 เมื่อปรากฏว่าภายในระยะเวลาดังกล่าวจำเลยได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจะเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงและได้วางเงินค่าทดแทนที่ดินต่อสำนักงานวางทรัพย์ฯ เพื่อให้โจทก์รับเงินไปอันเป็นการดำเนินการภายในอายุ พ.ร.ฎ. ดังกล่าว จำเลยจึงมีอำนาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 13 วรรคสองและวรรคสาม
โจทก์ปลูกสร้างอาคารพิพาทในเขตตาม พ.ร.ฎ. กำหนดแนวทางหลวงฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 74 (2) หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 24 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนค่าขนย้ายหรือค่าเสียหายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพจากจำเลยได้
โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนบางส่วนคือ 0-1-26 ไร่ ที่ดินทางด้านทิศเหนือมีส่วนของที่ดินเหลืออยู่ (ยาว) เพียง 1.5 วาอีกทั้งที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นก็มิได้ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของโจทก์ทำให้ไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนที่เหลืออีกต่อไป จำเลยจึงต้องเวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ด้วย ซึ่งราคาที่ดินตามที่ซื้อขายกันไร่ละ 400,000 บาทจำเลยจึงต้องจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตามเนื้อที่ดินทั้งแปลงจำนวน 240,000 บาทจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินส่วนที่เหลือสามารถใช้ทำประโยชน์ได้ จำเลยไม่จำเป็นต้องเวนคืนในส่วนที่เหลือ ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 4 ว่า จำเลยจะต้องใช้ค่าทดแทน ค่ารื้อถอน ค่าขนย้าย และค่าเสียหายที่ไม่สามารถประกบอาชีพตามปกติแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นได้ว่า ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทรวมไว้แล้วว่าจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าเป็นที่ดินส่วนที่เหลืออยู่ยาวเพียง 1.5 วา ไม่เหมาะสมที่โจทก์จะใช้ประโยชน์และจำเลยต้องเวนคืนและจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์หรือไม่ด้วย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา20 วรรคหนึ่ง บัญญัติขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่เวนคืนทำการเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากเจ้าของเพราะที่ดินส่วนที่เหลือนั้นเหลืออยู่น้อยหรือมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ทำประโยชน์ต่อไป โดยกำหนดให้เจ้าของที่ดินร้องขอต่อเจ้าหน้าที่เวนคืนเสียก่อนเพื่อเจ้าหน้าที่เวนคืนจะได้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว คดีนี้ เมื่อเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้แนะนำให้โจทก์ไปร้องขอต่อเจ้าหน้าที่เวนคืน โจทก์หาได้ดำเนินการตามคำแนะนำไม่ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนในส่วนนี้

Share