คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 เป็นสามีของผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายต่อมาโจทก์ที่ 1 และผู้ตายต่างย้ายภูมิลำเนาจากที่เดิมไปอยู่ที่อื่นซึ่งเป็นคนละแห่งกันโดยมิได้มีการติดต่อเยี่ยมเยียน หรือส่งข่าวคราวให้แก่กันเลยเป็นเวลานานหลายปีจึงถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครได้รับข่าวคราวเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี การที่ผู้ตายจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมในระหว่างที่แยกกันอยู่กับโจทก์ที่ 1 เช่นนี้ กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/25 การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นสามีผู้ตาาย และโจทก์ที่ ๒ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ในระหว่างผู้ตายมีชีวิตอยู่ได้จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ ๑ เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๕๙๘/๒๕ จำเลยไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์หรือกองมรดกของผู้ตาย
จำเลยให้การว่า ในขณะผู้ตายจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมโจทก์ที่ ๑ ได้ออกไปจากบ้านอันเป็นภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่แล้วไม่กลับมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี แล้ว จำเลยมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทคืนแก่กองมรดกของผู้ตาย หากไม่สามารถคืนได้ก็ให้ใช้เงินแทน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่๑ เป็นสามีผู้ตาย จดทะเบียนสมรสกัน ณ ที่ว่าการอำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๐๑ นายสุทัศน์เพียงแต่อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตาย ส่วนโจทก์ที่ ๒ เป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ระหว่างผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ได้จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ณที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา โดยความยินยอมของนายสุทัศน์เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๒๕ ผู้ตายถึงแก่กรรม
ปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า ขณะที่ผู้ตายจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายได้ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครได้รับข่าวคราวประการใดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี อันเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๕๙๘/๒๕ หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามข้อนำสืบของโจทก์จำเลยว่าผู้ตายไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับนายสุทัศน์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยโจทก์ที่ ๑ ก็ไม่ประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภรรยากับผู้ตายต่อไป และได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงเทพมหานครโดยมิได้แจ้งให้ผู้ตายทราบ ตอนผู้ตายป่วยและแม้งานศพผู้ตาย โจทก์ที่ ๑ ก็ไม่ทราบ มาทราบจากญาติผู้ตายแจ้งให้ทราบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ทั้งที่ผู้ตายถึงแก่กรรมในวันที่๓ กันยายน ๒๕๒๕ แสดงว่าโจทก์ที่ ๑ กับผู้ตายไม่ได้มีการติดต่อกันเลย เห็นว่า วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ที่มีการจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายได้ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครได้รับข่าวคราวประการใดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวการจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืน ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share