คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8408/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแต่ปรากฎว่าตามสัญญาจะซื้อจะขาย มีโจทก์และจำเลยที่ 1เป็นคู่สัญญาเท่านั้นแม้โฉนดที่ดินที่จะซื้อขายกันตามสัญญามีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยเมื่อจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 2 หาต้องมีความผูกพันรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้ทำกับโจทก์ไม่ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นภรรยาจำเลยที่ 1ก็ตาม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์แล้วประพฤติผิดสัญญา ดังนั้น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์จำเลยทำไว้จึงเป็นพยานเอกสารที่สำคัญ ซึ่งโจทก์ได้อ้างเอกสารดังกล่าวไว้ด้วย แต่ปรากฎว่าในวันชี้สองสถานโจทก์ขอส่งสำเนาสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยไม่มีต้นฉบับมาแสดง อ้างว่าต้นฉบับอยู่ที่จำเลย ซึ่งจำเลยปฎิเสธว่าไม่ได้อยู่ที่จำเลยแต่อยู่ที่โจทก์ และโจทก์มิได้ขอหมายเรียกเอกสารดังกล่าวจากจำเลย ศาลชั้นต้นจึงไม่รับสำเนาสัญญาจะซื้อจะขายของโจทก์ส่วนจำเลยอ้างหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำโดยส่งเป็นสำเนาเอกสารอ้างว่าต้นฉบับเอกสารดังกล่าวจากโจทก์ ดังนี้ เมื่อปรากฎว่า ต้นฉบับเอกสารอยู่ที่โจทก์และโจทก์ไม่ยอมนำมาส่งตามคำสั่งศาล ย่อมถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่จำเลยจะต้องนำสืบโดยเอกสารนั้นโจทก์ได้ยอมรับแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 123 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2532 จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยทั้งสองซึ่งมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับบุคคลอื่นให้แก่โจทก์ประมาณ 12 ไร่ หรือตามเนื้อที่ที่แบ่งแยกได้ ในราคาไร่ละ 150,000 บาท ที่ดินตั้งอยู่ตำบลราษฎร์นิยม (ละหาร) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี จำนวนเนื้อที่ทั้งแปลงประมาณ 70 ไร่ โดยจำเลยทั้งสองจะต้องขุดคลองหรือทางน้ำในที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งจากคลองลากค้อน มาสู่ถนนสาธารณะมีความกว้างประมาณ 3 เมตรในวันดังกล่าวโจทก์วางเงินมัดจำให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเช็คจำนวน 100,000 บาท และชำระให้แก่จำเลยทั้งสองอีก 2 งวดคืองวดวันที่ 10 กันยายน 2532 เป็นเงิน 400,000 บาท และงวดวันที่ 10 ตุลาคม 2532 เป็นเงิน 500,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระตามเนื้อที่ที่รังวัดแบ่งแยกได้ หากจำเลยทั้งสองผิดสัญญายอมให้โจทก์ปรับเป็นเงิน 1,000,000 บาท ต่อมาหลังจากที่จำเลยทั้งสองรับเงินดังกล่าวรวม 1,000,000 บาทแล้ว โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนของจำเลยทั้งสองเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ต่อไป แต่จำเลยทั้งสองผัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2533จำเลยทั้งสองรับว่าจะปฎิบัติ ตามสัญญาและขอเงินจากโจทก์อีก500,000 บาท โจทก์จึงชำระหนี้ให้ไป รวมเป็นเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสองรับไปแล้ว 1,500,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองก็หาได้ปฎิบัติ ตามสัญญาไม่ ในต้นปี 2535 โจทก์จึงไปตรวจสอบหลักฐานที่สำนักงานที่ดินพบว่าจำเลยทั้งสองทั้งสองแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนของจำเลยทั้งสองออกเป็น2 แปลง คือโฉนดเลขที่ 70730 เนื้อที่ 10 ไร่ และโฉนดเลขที่ 5700 เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 54 ตารางวา รวมเนื้อที่2 แปลง 15 ไร่ 1 งาน 54 ตารางวา โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้โจทก์พร้อมกับให้จำเลยทั้งสองขุดคลองหรือทางน้ำจากคลองลากค้อนถึงถนนสาธารณะเพื่อโจทก์จะได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยทั้งสองในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อไป แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ขอคิดค่าปรับเพียง 250,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 70730 และเลขที่ 5700 ตำบลราษฎร์นิยม (ละหาร) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรีให้แก่โจทก์ และรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือในอัตราไร่ละ150,000 บาท หรือตารางวาละ 375 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ปฎิบัติ ตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันขุดคลองหรือทางน้ำในที่ดินโฉนดเลขที่ 70726 ตำบลราษฎร์นิยม (ละหาร) อำเภอบางบัวทองจังหวัดนนทบุรี ให้มีความกว้าง 3 เมตร ตลอดแนวทางทิศเหนือจากคลองลากค้อน หรือทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินดังกล่าวมาทางทิศตะวันตกจนจดทางสาธารณะประโยชน์ และจดทะเบียนเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยทั้งสองแปลงที่จะขายให้โจทก์หากจำเลยไม่ปฎิบัติ ตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองหากมีค่าเสียหายใด ๆ อันเกิดจากการขุดคลองหรือทางน้ำให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 250,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ประสงค์จะขายที่ดินเฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ และเมื่อรังวัดแบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 70730 มีเนื้อที่ 10 ไร่ และโฉนดเลขที่ 5700เดิมคงเหลือ 5 ไร่ 1 งาน 54 ตารางวา จำเลยที่ 2 มิได้ประสงค์จะขายด้วย จำเลยที่ 1 ยินยอมให้ใช้ทางน้ำกว้างประมาณ3 เมตร ซึ่งเป็นอยู่ตามธรรมชาติร่วมกัน มิได้มีข้อตกลงว่าจะต้องจดทะเบียนภารจำยอมให้กับที่ดินแปลงใด โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 ขุดหรือจดทะเบียนภารจำยอมหาได้ไม่ หลังจากโจทก์ชำระเงินค่าซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 70730 เนื้อที่ 10ไร่ แล้วปรากฎว่าสถานการณ์ซื้อขายที่ดินซบเซา โจทก์ไม่ประสงค์จะได้ที่ดินแปลงนี้อีกต่อไป ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม2533 โจทก์เลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแก่จำเลยที่ 1 และยินดีขายคืนจำเลยที่ 1 ในราคา 1,000,000 บาท โจทก์ยอมผ่อนผันให้จำเลยที่ 1 ขายแก่บุคคลภายนอกได้ และนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์เพียง 1,000,000 บาท แต่จนบัดนี้จำเลยที่ 1ยังขายบุคคลอื่นไม่ได้ โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ให้โอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ไม่ได้อีกแล้ว เพราะสัญญาจะซื้อจะขายยกเลิกแล้วและไม่สามารถเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ และไม่เคยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่าโจทก์ฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแต่ปรากฎว่าตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ล.1 มีโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาเท่านั้น แม้โฉนดที่ดินที่จะซื้อขายกันตามสัญญามีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 2หาต้องมีความผูกพันรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 1ได้ทำไว้กับโจทก์ไม่ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นภรรยาจำเลยที่ 1ก็ตาม ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่ ในข้อนี้ข้อเท็จจริงเชื่อว่าได้มีการทำบันทึกไว้ท้ายเอกสารหมาย ล.1จริง คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์แล้วประพฤติผิดสัญญา ดังนั้น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์จำเลยทำไว้จึงเป็นพยานเอกสารที่สำคัญ ซึ่งโจทก์ได้อ้างเอกสารดังกล่าว ไว้ด้วย แต่ปรากฎว่าในวันนี้สองสถานโจทก์ขอส่งสำเนาสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยไม่มีต้นฉบับมาแสดง อ้างว่าต้นฉบับอยู่ที่จำเลย ซึ่งจำเลยปฎิเสธ ไม่ได้อยู่ที่จำเลยแต่อยู่ที่โจทก์ และโจทก์มิได้ขอหมายเรียกเอกสารดังกล่าวจากจำเลย ศาลชั้นต้นจึงไม่รับสำเนาสัญญาจะซื้อจะขายของโจทก์ ส่วนจำเลยอ้างหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำโดยส่งเป็นสำเนาเอกสารอ้างว่าต้นฉบับอยู่ที่โจทก์และได้ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกต้นฉบับเอกสารดังกล่าวจากโจทก์ โจทก์ทราบคำสั่งแล้วไม่ได้ส่งให้ ศาลชั้นต้นจึงให้รับสำเนาเอกสารของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1ได้ความตามคำเบิกความของนางเวียง ศรีคร้าม พยานโจทก์ว่าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันที่บ้านของโจทก์ ตนได้ลงชื่อเป็นพยาน สัญญาทำไว้ 1 ฉบับ ต้นฉบับอยู่ที่โจทก์ ส่วนสำเนาภาพถ่ายเอกสารจำเลยที่ 2 เก็บไว้ซึ่งเจือสมกับพยานจำเลยทั้งสองที่นำสืบมาในข้อนี้ เมื่อพิจารณาว่าต้นฉบับเอกสารหมาย ล.1 ในส่วนที่หมายเหตุไว้ทำให้จำเลยที่ 1 ได้เปรียบในทางคดี หากมีอยู่ที่จำเลยทั้งสองจริงก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าว เหตุที่โจทก์ไม่ยอมส่งต้นฉบับเอกสารหมาย ล.1 น่าจะเป็นเพราะมีบันทึกหรือหมายเหตุไว้ทำให้ตนเสียเปรียบและกีดกันไม่ให้ฝ่ายจำเลยทั้งสองอ้างอิงต้นฉบับนั้นเป็นพยานหลักฐานรูปคดีมีเหตุผลทำให้เชื่อได้ว่า ต้นฉบับเอกสารหมาย ล.1 อยู่ที่โจทก์เมื่อโจทก์ไม่ยอมนำมาส่งตามคำสั่งศาล ย่อมถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่จำเลยจะต้องนำสืบโดยเอกสารนั้น โจทก์ได้ยอมรับแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123วรรคหนึ่ง ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1ได้ตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกันแล้วตามที่ได้บันทึกไว้ในต้นฉบับเอกสารหมาย ล.1 โจทก์จะนำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวมาฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฎิบัติ ตามสัญญาอีกหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share