คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 837/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์ติดกับลำรางสาธารณะ แต่ลำรางไม่มีน้ำที่จะใช้เป็นทางสัญจรทางเรือตลอดเวลา เพราะบางฤดูน้ำแห้งและเป็นโคลน มีสภาพตื้นเขินประชาชนที่อาศัยอยู่ตามริมลำรางไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรมาประมาณ 10 ปีแล้ว จึงไม่เป็นทางสาธารณะตาม ป.พ.พ.มาตรา 1349 ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์จึงมีสิทธิผ่านที่ดินของจำเลยในฐานะเป็นทางจำเป็นเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะที่ใกล้ที่สุดได้ โดยให้โจทก์มีสิทธิในทางเพียงเพื่อความจำเป็นในการเข้าออกที่ดินตามปกติที่มิใช่การค้า
จำเลยฎีกาว่าทางในที่ดินของจำเลยเป็นถนนส่วนบุคคลไม่ใช่ที่ดินว่างเปล่า จึงไม่มีกฎหมายในเรื่องทางจำเป็นที่จะบังคับให้จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ถนนของจำเลยได้ โดยจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเปิดทางจำเป็น และได้เสนอค่าทดแทนความเสียหายให้แก่จำเลยและจำเลยให้การต่อสู้ในข้อนี้ แต่คำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยรับเงินค่าทดแทนความเสียหายที่โจทก์ใช้ที่ดินของจำเลยและจำเลยก็มิได้ฟ้องแย้งเรียกร้องค่าทดแทนดังกล่าวว่าควรจะเป็นจำนวนเท่าใดที่โจทก์ฎีกาว่า ค่าทดแทนความเสียหายที่โจทก์ใช้ที่ดินของจำเลยตามที่โจทก์เสนอมาพอสมควรหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าค่าทดแทนที่โจทก์เสนอมาเป็นจำนวนน้อยไม่คุ้มกับความเสียหายที่จำเลยจะได้รับและข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะกำหนดค่าทดแทนนั้น ศาลฎีกาจึงยังไม่วินิจฉัยให้ ชอบที่จำเลยจะว่ากล่าวเอาแก่โจทก์ในเรื่องค่าทดแทนความเสียหายเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก
แม้ ป.พ.พ.มาตรา 1352 จะบัญญัติว่าเจ้าของที่ดินต้องยอมให้ผู้อื่นวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินของตนเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินติดต่อก็ตาม แต่ความในมาตรานี้ก็บัญญัติไว้ด้วยว่าเจ้าของที่ดินจะต้องยอมก็ต่อเมื่อได้รับค่าทดแทนตามสมควรแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ที่จะวางต้องบอกกล่าวเสนอจำนวนค่าทดแทนให้เจ้าของที่ดินทราบก่อน ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์เคยบอกกล่าวเสนอค่าทดแทนแก่จำเลย ทั้งคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็มิได้ขอให้จำเลยรับเงินค่าทดแทนจากโจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิตาม ป.พ.พ.มาตรา 1352 ได้หรือไม่

Share