คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8407/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บัญชีสินค้าสำหรับเรือ (Manifest) เป็นบัญชีแสดงรายละเอียดสินค้าที่ส่งออกเป็นเอกสารที่นายเรือทุกลำซึ่งบรรทุกสินค้าออกหรือตัวแทนมีหน้าที่ยื่นต่อศุลกสถานของโจทก์ภายใน 6 วันเต็ม นับแต่วันที่ได้ออกใบปล่อยเรือขาออก ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 51 บัญชีสินค้าสำหรับเรือ (Manifest) จึงเป็นพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่ามีการส่งสินค้าออกนอกราชอาญาจักรหรือไม่ เมื่อสินค้าที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาออกทั้งสี่ฉบับไม่ตรงกับบัญชีสินค้าสำหรับเรือ (Manifest) และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้นำสืบหักล้างว่าเหตุใดจึงไม่ตรงกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าไม่มีการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาออก จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีศุลกากรและจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ.2524 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538 จำเลยที่ 1 นำสำเนาใบขนสินค้าขาออกจำนวน 4 ฉบับ ใช้ประกอบคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร 1 ชุด โดยระบุโอนสิทธิในเงินชดเชยค่าภาษีอากรที่จะได้รับให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งสิ้น 83,947.93 บาท ตามคำร้องขอรับโอนสิทธิในบัตรภาษี จำเลยที่ 2 นำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากรแทนเงินสดแล้ว ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรฯ ต่อมาโจทก์ตรวจสอบบัญชีสินค้าสำหรับเรือ (Manifest) ตามที่จำเลยที่ 1 สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาออกพบว่าจำเลยที่ 1 มิได้ส่งสินค้าตามสำแดงออกไปนอกราชอาณาจักรโดยมีการจัดทำบัญชีสินค้าปลอมสอดแทรกไว้ในบัญชีสินค้าสำหรับเรือ เครื่องหมาย หมายเลข หีบห่อ ชนิดสินค้า และชื่อผู้รับสินค้าที่จำเลยที่ 1 แสดงไว้ในใบขนสินค้าขาออกไม่ตรงกับบัญชีสินค้าสำหรับเรือ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสำแดงเท็จตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 99 และเป็นความผิดฐานยื่นคำขอชดเชยค่าภาษีอากรเป็นเท็จ ตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรฯ มาตรา 31 และ 32 จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ส่งออกและไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากร จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิที่จะครอบครองและนำบัตรภาษีไปใช้ โจทก์มีสิทธิติดตามเอาเงินชดเชยในรูปบัตรภาษีคืนจากจำเลยที่ 1 ผู้โอน จำเลยที่ 2 ผู้รับโอน และจำเลยที่ 3 กับที่ 4 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยังต้องรับผิดตามข้อตกลงในคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีอันเนื่องจากการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินตามมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 83,947.93 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันรับบัตรภาษีจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 58,786.55 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้นำสำเนาใบขนสินค้าขาออกจำนวน 4 ฉบับ ประกอบคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร 1 ชุด โดยระบุโอนสิทธิในเงินชดเชยค่าภาษีอากรที่จะได้รับแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้รับภาษีไปจากโจทก์และนำไปใช้แล้ว เห็นว่า บัญชีสินค้าสำหรับเรือ (Manifest) เป็นบัญชีแสดงรายละเอียดสินค้าที่ส่งออก เป็นเอกสารที่นายเรือทุกลำซึ่งบรรทุกสินค้าออกหรือตัวแทนมีหน้าที่ยื่นต่อศุลกสถานของโจทก์ภายใน 6 วันเต็ม นับแต่วันที่ได้ออกใบปล่อยเรือขาออก ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 51 บัญชีสินค้าสำหรับเรือ (Manifest) จึงเป็นพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่ามีการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรหรือไม่ เมื่อสินค้าที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาออกทั้งสี่ฉบับไม่ตรงกับบัญชีสินค้าสำหรับเรือ (Manifest) และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้นำสืบหักล้างว่าเหตุใดจึงไม่ตรงกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าไม่มีการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาออกทั้งสี่ฉบับ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษี ส่วนจำเลยที่ 2 ขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีโดยให้สัญญาต่อโจทก์ว่าถ้าหากเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดๆ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตามสัญญาที่ให้แก่โจทก์ เมื่อมีการนำบัตรภาษีไปใช้ชำระค่าภาษีอากรแล้ว จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกันคืนเงินตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ.2524 มิได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ 2 จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย โดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มกราคม 2539 ซึ่งเป็นวันรับบัตรภาษี และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับแต่วันครบกำหนดเวลาที่โจทก์ทวงถามให้คืนเงินตามมูลค่าบัตรภาษี เมื่อหนังสือขอให้คืนเงินชดเชย เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 26 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2547 ระบุให้จำเลยที่ 2 คืนบัตรภาษีหรือชดใช้เงินจำนวน 83,947.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ในหนังสือฉบับนี้ แต่ตามใบตอบรับในประเทศ เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 27 ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าววันที่ 20 ตุลาคม 2547 ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบว่า โจทก์มีเจตนาเช่นใดแน่ นับได้ว่ากรณีมีข้อสงสัยจึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 คือนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ได้ทราบถึงการทวงถาม ดังนั้น จึงครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ชำระหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันถัดไปคือวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินตามมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 83,947.93 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องมิให้เกิน 58,786.55 บาท

Share