คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9109/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

องค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 คือ การมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ดังนั้น การที่จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนคนละขนาดกับอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองและจะใช้ด้วยกันได้หรือไม่ จึงไม่ใช่เป็นข้อสาระสำคัญไม่ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 และริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 9 เดือน ริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืนให้จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า แม้อาวุธปืนของกลางจะเป็นอาวุธปืนขนาด .357 แต่จะใช้ยิงได้หรือไม่ โจทก์ไม่ได้นำสืบประกอบคำรับสารภาพ และกระสุนปืนกับอาวุธปืนของกลางเป็นคนละชนิดกัน เป็นทำนองว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดนั้น เห็นว่า ในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่สามารถใช้ยิงได้ ดังนั้น จำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ให้การรับสารภาพแล้วเพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นย่อมมิได้เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาเป็นข้อกฎหมายในทำนองว่า อาวุธปืนกับกระสุนปืนของกลางเป็นคนละขนาดกันไม่อาจใช้ด้วยกันได้ จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า องค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 คือ การมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ดังนั้น การที่จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนคนละขนาดกับอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองและจะใช้ด้วยกันได้หรือไม่ จึงไม่ใช่เป็นข้อสาระสำคัญ ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาข้อต่อมา ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบานั้น เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษในความผิดฐานมีอาวุธปืนให้แก่จำเลยก่อนลดโทษให้จำคุก 1 ปี เป็นการลงโทษในอัตราโทษขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษเบากว่านี้ได้ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดโทษจำเลยในความผิดฐานพาอาวุธปืนก่อนลดโทษให้จำคุก 6 เดือน ก็เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายขอให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยนั้น เห็นว่า อาวุธปืนเป็นอาวุธร้ายแรงโดยสภาพสามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่นได้ ทั้งอาวุธปืนของกลางไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ หากนำไปใช้ก่ออาชญากรรมแล้วย่อมยากแก่การตรวจสอบและติดตามหาตัวผู้กระทำความผิด ประกอบกับสภาพปัญหาของสังคมในปัจจุบันมีการใช้อาวุธปืนก่ออาชญากรรมเป็นจำนวนมากหลายรูปแบบ และนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การที่จำเลยมีและพาอาวุธปืนกับกระสุนปืนกับกระสุนปืนของกลางติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะอาจเป็นภัยต่อประชาชนทั่วไป พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยกระทำความผิดโดยขาดความสำนึก ด้วยความคึกคะนอง ไม่ได้นำอาวุธปืนไปทำร้ายผู้ใด และจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดนั้นไม่ถูกต้อง เพราะความผิดตามมาตรา 72 วรรคสอง ต้องเป็นเพียงกรณีมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share