คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 840/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ทั้งสองอ้างว่าได้ภารจำยอมมาโดยอายุความจากการเดินผ่านทางพิพาทซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1401ประกอบด้วยมาตรา1382โจทก์ที่1จะต้องใช้ทางพิพาทเป็นทางผ่านออกไปจากที่ดินของโจทก์ที่1หรือผ่านเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่1ติดต่อกันเป็นเวลา10ปีจึงจะได้ภารจำยอมในที่ดินของจำเลยตามที่ฟ้องแต่ปรากฏว่าในคำฟ้องมิได้กล่าวว่าโจทก์ที่1ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกในที่ดินของโจทก์ที่1มาครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้คงกล่าวมีใจความเพียงว่าทางพิพาทเป็นทางที่ประชาชนและเจ้าของที่ดินบริเวณนั้นใช้มาเป็นเวลาหลายสิบปีมีสภาพเป็นทางภารจำยอมที่ประชาชนใช้ร่วมกันตามคำฟ้องโจทก์นี้ไม่อาจเข้าใจได้ว่าโจทก์ที่1ได้เดินผ่านหรือใช้ที่ดินของจำเลยมาครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เกี่ยวกับการได้ภารจำยอมของโจทก์ที่1ดังกล่าวข้างต้นส่วนประชาชนจะได้ใช้ทางพิพาทนี้อย่างไรย่อมไม่เกี่ยวกับการได้ภารจำยอมของโจทก์ที่1แต่อย่างใดสำหรับโจทก์ที่2แม้คำฟ้องโจทก์จะบรรยายว่าโจทก์ที่2เป็นผู้ใช้เส้นทางภารจำยอมบนที่ดินของจำเลยเพื่อออกสู่ทะเลเป็นปกติประจำนานเกินกว่า40ปีแต่ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่2มีที่ดินที่จะได้รับประโยชน์จากทางภารจำยอมนั้นด้วยหรือไม่หากโจทก์ที่2ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองโจทก์ที่2จะอ้างว่าใช้ทางพิพาทเพื่อประโยชน์ในการออกสู่ทะเลไม่ได้เนื่องจากภารจำยอมจะเกิดขึ้นต้องเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์มิได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะดังนั้นคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้กล่าวถึงข้ออ้างที่จะอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการที่จะบังคับจำเลยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางพิพาทและไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับทางพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 21531 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โจทก์ที่ 2เป็นผู้ใช้เส้นทางภารจำยอมบนที่ดินของจำเลยเดินผ่านที่ดินภารจำยอมเพื่อออกสู่ทะเลเป็นปกติประจำนานเกินกว่า 40 ปี จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 20361 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำจังหวัดเพชรบุรี ที่ดินทั้งของโจทก์ที่ 1 และจำเลยอยู่ห่างจากถนนเพชรเกษมประมาณ 600 เมตร มีทางแยกจากถนนเพชรเกษมผ่านด้านทิศใต้ของที่ดินโจทก์ที่ 1 และตัดผ่านที่ดินโฉนดเลขที่20361 ของจำเลยไปเชื่อมกับทางสาธารณะประโยชน์ทางด้านทิศตะวันออกเพื่อออกสู่ทะเล ทางดังกล่าวเกิดขึ้นโดยประชาชนและเจ้าของที่ดินในบริเวณนั้นได้ใช้มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ดังนั้นทางช่วงที่ตัดผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 20361 ของจำเลยจึงมีสภาพเป็นทางภารจำยอมที่ประชาชนใช้ร่วมกันและมีลักษณะเป็นทางสาธารณประโยชน์ในขณะเดียวกันต่อมาเดือนมีนาคม 2531 จำเลยได้ปิดกั้นทางภารจำยอมดังกล่าวโดยทำประตูรั้วเหล็กบริเวณแนวเขตที่ดินของจำเลยด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกซึ่งเชื่อมกับทางสาธารณประโยชน์เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองและประชาชนซึ่งเคยใช้เส้นทางดังกล่าวไปสู่ทะเลด้านทิศตะวันออกไม่สามารถใช้เส้นทางดังกล่าวออกสู่ทะเลได้ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรั้วของจำเลยที่ปิดกั้นขวางทางถนนสาธารณะออกไปจากที่ดินจำเลย หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลสั่งให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนเอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องในถนนสาธารณะดังกล่าว
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่บรรยายข้ออ้างให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ทั้งสองได้สิทธิทางภารจำยอมเหนือที่ดินจำเลยด้วยเหตุใดทางพิพาทเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์ของที่ดินแปลงใด ของใคร โจทก์อ้างว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์และทางภารจำยอม คำขอบังคับกลับขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ปิดกั้นถนนสาธารณะออกไปจากที่ดินของจำเลย ข้ออ้างของโจทก์ขัดแย้งกันเองจำเลยไม่อาจเข้าใจฟ้องของโจทก์และต่อสู้ได้ชัดเจนเป็นฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะภารจำยอมในอสังหาริมทรัพย์จะเกิดขึ้นก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น โจทก์ที่ 2 อ้างว่าใช้ทางภารจำยอมบนที่ดินของจำเลยออกสู่ทะเล เป็นข้ออ้างว่าใช้ทางเพื่อประโยชน์แก่ตัวโจทก์ที่ 2 ในการออกสู่ทะเล ไม่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ใดของโจทก์ที่ 2 ดังนั้นโจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจอ้างสิทธิในภารจำยอมให้เปิดทางได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 20361 ของจำเลยไม่มีทางสาธารณประโยชน์หรือทางภารจำยอมใด ๆ เพราะไม่เคยมีทางผ่านมาก่อน โจทก์ทั้งสองกับชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงก็ไม่เคยใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางผ่านไปเชื่อมกับทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออกเพื่อออกสู่ทะเล หากจะมีชาวบ้านเดินลัดผ่านที่ดินของจำเลยบ้างเป็นครั้งคราวก็เป็นเรื่องของการถือวิสาสะตามลักษณะของชาวชนบทไม่ก่อให้เกิดสิทธิเป็นภารจำยอม นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 กับสามีเคยรับจ้างดูแลบ้านพักของผู้มีชื่อซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 895 บางส่วนก่อนจะจดทะเบียนแบ่งเป็นสามโฉนด โจทก์ที่ 1อาศัยสิทธิของเจ้าของที่ดินเดิมเดินผ่านเข้าออกที่ดินเพื่อดูแลรักษาบ้านพักที่ปลูกอยู่ในที่ดินนั้นเท่านั้น ทั้งเป็นเวลาไม่ถึงสิบปี โจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้ภารจำยอมเป็นทางเดินในที่ดินโฉนดเลขที่ 895 ส่วนที่แบ่งแยกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ในชั้นชี้สองสถาน โจทก์ทั้งสองแถลงสละข้อกล่าวอ้างในฟ้องที่ว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์คงเหลือเพียงประเด็นว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่เท่านั้น พิเคราะห์แล้วตามคำบรรยายฟ้องโจทก์เป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ทั้งสองอ้างว่าได้ภารจำยอมมาโดยอายุความจากการเดินผ่านทางพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401ประกอบด้วยมาตรา 1382 โจทก์ที่ 1 จะต้องใช้ทางพิพาทเป็นทางผ่านออกไปจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 หรือผ่านเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 1ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จึงจะได้ภารจำยอมในที่ดินของจำเลยตามที่ฟ้อง แต่ปรากฏว่าในคำฟ้องมิได้กล่าวว่า โจทก์ที่ 1 ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกในที่ดินของโจทก์ที่ 1 มาครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คงกล่าวมีใจความเพียงว่าทางพิพาทเป็นทางที่ประชาชนและเจ้าของที่ดินบริเวณนั้นใช้มาเป็นเวลาหลายสิบปี มีสภาพเป็นทางภารจำยอมที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ตามคำฟ้องโจทก์นี้ไม่อาจเข้าใจได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้เดินผ่านหรือใช้ที่ดินของจำเลยมาครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เกี่ยวกับการได้ภารจำยอมของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวข้างต้นส่วนประชาชนจะได้ใช้ทางพิพาทนี้อย่างไรย่อมไม่เกี่ยวกับการได้ภารจำยอมของโจทก์ที่ 1แต่อย่างใด สำหรับโจทก์ที่ 2 แม้คำฟ้องโจทก์จะบรรยายว่าโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ใช้เส้นทางภารจำยอมบนที่ดินของจำเลยเพื่อออกสู่ทะเลเป็นปกติประจำนานเกินกว่า 40 ปี แต่ตามคำฟ้องไม่ปราฏกว่าโจทก์ที่ 2 มีที่ดินที่จะได้รับประโยชน์จากทางภารจำยอมนั้นด้วยหรือไม่ หากโจทก์ที่ 2 ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองโจทก์ที่ 2 จะอ้างว่าใช้ทางพิพาทเพื่อประโยชน์ในการออกสู่ทะเลไม่ได้ เนื่องจากภารจำยอมจะเกิดขึ้นต้องเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ มิได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะสรุปแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้กล่าวถึงข้ออ้างที่จะอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการที่จะบังคับจำเลยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางพิพาทและไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับทางพิพาทได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นซึ่งโจทก์ทั้งสองฎีกาโต้เถียงมา ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share