คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2782/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุเพียง 13 ปีเศษ หาใช่ 14 ปีเศษดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ จำเลยจึงไม่ต้อง รับโทษตาม ป.อ. มาตรา 74 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและ วิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงใหม่แทน ข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) ก. ประกอบด้วยมาตรา 247 และ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่จำเลย มีอายุครบ 18 ปีแล้ว กรณีไม่อาจส่งตัวจำเลยไปเพื่อฝึกและอบรมตามมาตรา 74 (5) ได้ แต่สมควรให้ดำเนินการตามมาตรา 74 (2) และ (3) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกามา ศาลฎีกา ก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๘๓, ๒๘๘, ๓๗๑ ริบอาวุธมีดของกลาง นับโทษหรือระยะเวลาฝึกและอบรมของจำเลยต่อจากคดีก่อน
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายโดยมารดาผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบอาวุธมีดของกลาง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ (๘), ๓๗๑ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ ๑๔ ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๕ เรียงกระทงลงโทษข้อหาทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส จำคุก ๑ ปี ข้อหาพาอาวุธมีดปรับ ๔๕ บาท รวมจำคุก ๑ ปี และปรับ ๔๕ บาท คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้วคงจำคุก ๘ เดือน และปรับ ๓๐ บาท ปรากฏตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของจำเลยว่า จำเลยมีความประพฤติเสียหายหลายอย่าง สมควรเอาตัวไว้ฝึกอบรมสักระยะหนึ่งเพื่อขัดเกลานิสัย อาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๐๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง มีกำหนดขั้นต่ำ ๖ เดือน ขั้นสูง ๑ ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้รับการฝึกและอบรมต่ออีก ๑ เดือน ริบมีดของกลาง คำขออื่นให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัยว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ ๑๔ ปีเศษ และผลที่สุดพิพากษาลงโทษจำเลยโดยปรับบทลงโทษมาแต่ละกระทงความผิด แล้วเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางนั้น ในข้อนี้กลับได้ความจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า จำเลยเกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๒๖ และเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๙ ดังนั้น ขณะกระทำความผิดจำเลยคงมีอายุเพียง ๑๓ ปีเศษ เท่านั้น หาใช่ ๑๔ ปีเศษ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัยไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนเช่นนี้ แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๔ (๒) อันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ (๓) ก. ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๗ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ โดยเฉพาะขณะนี้จำเลยมีอายุครบ ๑๘ ปีแล้ว กรณีไม่อาจส่งตัวจำเลยไปเพื่อฝึกและอบรมได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ (๕) แต่แม้กระนั้นก็ตามเห็นสมควรให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ (๒) และ (๓) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกามา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ดังนั้น จึงต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ เสียใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ (๘) ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ จำเลยอายุยังไม่เกิน ๑๔ ปี ไม่ต้องรับโทษจึงให้มอบตัวจำเลยให้นางศิริวรรณ รักชาติ ซึ่งเป็นป้าและผู้ปกครองจำเลยไปดูแล หากจำเลยก่อเหตุร้ายภายใน ๓ ปี ให้นางศิริวรรณชำระเงินต่อศาลครั้งละ ๑,๐๐๐ บาท ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ๓ เดือนต่อครั้ง มีกำหนด ๑ ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา ๓๐ ชั่วโมง และประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะ กับละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ (๒) และ (๓) ประกอบด้วยมาตรา ๕๖ ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒.

Share