แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อมูลตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 14 จัตวา หมายถึง ข้อเท็จจริงหรือข้อความที่เป็นเนื้อหาของการติดต่อสื่อสารกันทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรทัศน์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ส่วนข้อมูลตามเอกสารหมาย จ.14 เป็นข้อเท็จจริงว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการใช้งานกันหรือไม่ เพียงใด มิใช่ข้อมูลตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟัง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 4, 6, 8, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 83, 91 เพิ่มโทษจำเลยที่ 6 และที่ 7 กึ่งหนึ่งตามกฎหมาย นำโทษจำคุกของจำเลยที่ 10 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4927/2556 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 673/2557 ของศาลชั้นต้น มาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 10 ในคดีนี้ ริบเมทแอมเฟตามีน รถกระบะ หมายเลขทะเบียน บพ 6941 เชียงราย รถยนต์ หมายเลขทะเบียน กม 402 เชียงราย รถยนต์ หมายเลขทะเบียน กพ 105 ภูเก็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ดและซิมการ์ดของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 10 ให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 10 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 6 และที่ 7 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 6 และที่ 7 แล้ว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 6 และที่ 7 ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 10 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 คำให้การในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 10 คนละกึ่งหนึ่ง และลดโทษให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2), (1) ตามลำดับ คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 ตลอดชีวิต เมื่อลงโทษจำคุกจำเลยที่ 10 ตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจนำโทษจำคุกของจำเลยที่ 10 ที่รอการลงโทษไว้ทั้งสองคดีดังกล่าวมาบวกกับโทษของจำเลยที่ 10 ในคดีนี้ได้ ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ 14 เครื่อง พร้อมซิมการ์ด รถกระบะ หมายเลขทะเบียน บพ 6941 เชียงราย ของกลาง แต่ให้คืนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กม 402 เชียงราย รถยนต์ หมายเลขทะเบียน กพ 105 ภูเก็ต ของกลางแก่เจ้าของ คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 2 และที่ 3 คำให้การในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกตลอดชีวิต ให้ริบรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กพ 105 ภูเก็ต และรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กม 402 เชียงราย ของกลาง ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8749 xxxx หมายเลข 08 7355 xxxx หมายเลข 09 4603 xxxx และแบบ 2 ซิมการ์ด หมายเลข 08 1536 xxxx และหมายเลข 08 1531 xxxx กับซิมการ์ดหมายเลข 09 3248 xxxx ของกลาง ให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 และที่ 9 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งนั่งมาในรถกระบะ หมายเลขทะเบียน บพ 6941 เชียงราย พร้อมกับยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8778 xxxx หมายเลข 08 7355 xxxx และซิมการ์ดหมายเลข 09 3248 xxxx ของจำเลยที่ 1 กับเมทแอมเฟตามีน 697,800 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 68,124.859 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 13,828.263 กรัม เป็นของกลาง จับกุมจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ซึ่งนั่งมาในรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กม 402 เชียงราย พร้อมกับยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 2895 xxxx หมายเลข 09 4603 xxxx และหมายเลข 09 8770 xxxx ของจำเลยที่ 4 โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8358 xxxx และโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ 2 ซิม หมายเลข 08 5715 xxxx และหมายเลข 09 9367 xxxx ของจำเลยที่ 5 โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8778 xxxx ของจำเลยที่ 6 เป็นของกลาง ได้ที่สี่แยกถนนเลี่ยงเมืองเชียงรายตัดกับถนนสายอำเภอเมืองเชียงราย – อำเภอเทิง และเจ้าพนักงานตำรวจที่ด่านตรวจปูแกง อำเภอพาน จับกุมจำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 ซึ่งนั่งมาในรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กพ 105 ภูเก็ต พร้อมกับยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8778 xxxx และหมายเลข 09 3248 xxxx ของจำเลยที่ 7 โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 3153 xxxx และโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ 2 ซิม หมายเลข 08 1536 xxxx และหมายเลข 08 1531 xxxx ของจำเลยที่ 8 โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8749 xxxx ของจำเลยที่ 9 เป็นของกลาง และจับกุมจำเลยที่ 10 ที่บ้านพักตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย พร้อมกับยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 2391 xxxx เป็นของกลาง คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 10 เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 10 กระทำความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้กระทำความผิดเพราะเหตุที่ได้มีการได้สมคบกัน และฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และคดีสำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 เป็นที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 และที่ 9 ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 และที่ 9 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจเอก พศวีร์ พันตำรวจโท นพรัตน์ และดาบตำรวจ นิมิต ผู้ร่วมจับกุมเป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า ก่อนเกิดเหตุพันตำรวจเอก พศวีร์ได้รับรายงานจากชุดสืบสวนของสถานีตำรวจภูธรแม่ยาวว่า จำเลยที่ 7 มีพฤติการณ์เป็นหัวหน้ากลุ่มผู้ค้ายาเสพติด มีผู้ร่วมขบวนการ คือ จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 จะใช้รถกระบะ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก หมายเลขทเบียน บพ 6941 เชียงราย ของจำเลยที่ 1 รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด รุ่นเรนเจอร์ หมายเลขทะเบียน กม 402 เชียงราย ของจำเลยที่ 4 และรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นปาเจโร หมายเลขทะเบียน กพ 105 ภูเก็ต ของจำเลยที่ 8 เป็นพาหนะในการขนยาเสพติด ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2557 เวลาเย็น กลุ่มของจำเลยที่ 7 ได้มาพูดคุยกันที่ร้านอาหารคึ๊ โดยมีรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กม 402 เชียงราย และรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กพ 105 ภูเก็ต จอดอยู่คู่กัน ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2557 เวลา 4 นาฬิกา พันตำรวจโท นพรัตน์ได้รับแจ้งจากสายลับว่า รถยนต์ต้องสงสัยทั้งสามคันไม่ได้จอดอยู่ที่บ้านพัก จึงให้ตรวจสอบ พบว่ารถกระบะ หมายเลขทะเบียน บพ 6941 เชียงราย อยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สาย จึงได้แบ่งกำลังเจ้าพนักงานตำรวจเป็น 3 ชุด ชุดที่หนึ่งดาบตำรวจ นิมิตกับพวกซุ่มอยู่ที่ถนนสายหลักในอำเภอดอยหลวง ชุดที่สองพันตำรวจโท นพรัตน์กับพวกซุ่มดูที่ถนนซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างอำเภอดอยหลวงกับอำเภอเวียงเชียงรุ้ง ชุดที่สามพันตำรวจเอก พศวีร์กับพวกซุ่มอยู่ที่ถนนเลี่ยงเมืองเชียงรายบริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอเวียงชัยกับอำเภอเมืองเชียงราย ต่อมาเวลาประมาณ 6 นาฬิกา รถยนต์ หมายเลขทะเบียน กพ 105 ภูเก็ต แล่นจากทางอำเภอเชียงแสนมุ่งหน้าไปทางอำเภอเวียงเชียงรุ้ง ผ่านจุดที่ดาบตำรวจ นิมิตซุ่มอยู่ โดยมีรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กม 402 เชียงราย และรถกระบะ หมายเลขทะเบียน บพ 6941 เชียงราย แล่นตามไป ทิ้งช่วงห่างกันคันละประมาณ 2 ถึง 3 นาที ดาบตำรวจ นิมิตรายงานพันตำรวจเอก พศวีร์และขับรถยนต์ติดตามไปถึงอำเภอเวียงเชียงรุ้ง ได้รับแจ้งจากพันตำรวจโท นพรัตน์ว่า รถยนต์ทั้งสามคันแล่นผ่านจุดที่พันตำรวจโท นพรัตน์กับพวกซุ่มอยู่ไปตามถนนเลี่ยงเมืองเชียงรายมุ่งหน้าไปทางอำเภอเมืองเชียงราย โดยทิ้งช่วงห่างกันคันละประมาณ 1 ถึง 2 นาที พันตำรวจโท นพรัตน์กับพวกขับรถยนต์แล่นติดตามรถยนต์ทั้งสามคันไปโดยทิ้งห่างในระยะที่สามารถมองเห็นด้วยสายตา เมื่อรถยนต์ทั้งสามคันดังกล่าวแล่นผ่านจุดที่พันตำรวจเอก พศวีร์กับพวกซุ่มอยู่ที่สี่แยกถนนเลี่ยงเมืองเชียงรายตัดกับถนนสายอำเภอเมืองเชียงราย – อำเภอเทิง ปรากฏว่ารถยนต์ หมายเลขทะเบียน กพ 105 ภูเก็ต และรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กม 402 เชียงราย แล่นผ่านสัญญาณไฟจราจรข้ามแยกไปได้ คงเหลือแต่รถกระบะ หมายเลขทะเบียน บพ 6941 เชียงราย จอดรอสัญญาณไฟจราจร พันตำรวจเอก พศวีร์สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาขับรถยนต์แซงขึ้นไปจอดปิดด้านหน้า และให้พันตำรวจโท นพรัตน์กับพวกที่ขับรถยนต์แล่นตามมาจอดปิดท้าย แล้วแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้น พบจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถยนต์คันดังกล่าว มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั่งโดยสารมาในรถ พบเมทแอมเฟตามีน 697,800 เม็ด บรรจุห่ออยู่ในถุงดำลักษณะเดียวกับถุงใส่ขยะ 3 ใบ วางอยู่ที่แค็บด้านหลังรถบริเวณด้านข้างที่จำเลยที่ 3 นั่ง และพบโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8778 xxxx หมายเลข 08 7355 xxxx และซิมการ์ดหมายเลข 09 3248 xxxx ของจำเลยที่ 1 วางอยู่ที่บริเวณคอนโซลเกียร์ จึงควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 พร้อมกับยึดเมทแอมเฟตามีนและสิ่งของต่าง ๆ เป็นของกลาง พันตำรวจเอก พศวีร์ได้ขอกำลังสนับสนุนจากเจ้าพนักงานตำรวจในพื้นที่ และให้พันตำรวจโท นพรัตน์กับพวกติดตามรถยนต์ที่เหลือไป เมื่อพันตำรวจโท นพรัตน์กับพวกขับรถไปห่างจากจุดที่จับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประมาณ 5 ถึง 7 กิโลเมตร พบรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กม 402 เชียงราย แล่นสวนมาในทางเดินรถฝั่งตรงกันข้าม พันตำรวจโท นพรัตน์จึงให้เลี้ยวรถติดตามไป จนกระทั่งรถคันดังกล่าวมาจอดรอเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกถนนเลี่ยงเมืองเชียงรายในทางเดินรถฝั่งตรงกันข้ามกับจุดที่จับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ พันตำรวจโท นพรัตน์สั่งให้ขับรถไปจอดขวางด้านหน้า แล้วแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ขอตรวจค้น พบจำเลยที่ 4 เป็นคนขับ มีจำเลยที่ 5 และที่ 6 นั่งโดยสารมาด้วย จึงได้ควบคุมตัวจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 2895 xxxx หมายเลข 09 4603 xxxx และหมายเลข 09 8770 xxxx ของจำเลยที่ 4 โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8358 xxxx และแบบ 2 ซิมการ์ด หมายเลข 08 5715 xxxx และหมายเลข 09 9367 xxxx ของจำเลยที่ 5 กับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8778 xxxx ของจำเลยที่ 6 เป็นของกลาง ส่วนดาบตำรวจ นิมิตกับพวกซึ่งติดตามรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กพ 105 ภูเก็ต ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานตำรวจที่ด่านตรวจปูแกงว่า สามารถสกัดรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กพ 105 ภูเก็ต ได้ พร้อมกับจับและควบคุมตัวจำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 ซึ่งโดยสารมาในรถยนต์คันดังกล่าวและยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8778 xxxx และหมายเลข 09 3248 xxxx ของจำเลยที่ 7 โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 1536 xxxx และหมายเลข 08 1531 xxxx ของจำเลยที่ 8 โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8749 xxxx ของจำเลยที่ 9 ได้ จึงไปควบคุมตัวจำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 พร้อมยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นของกลาง จำเลยที่ 1 ให้การว่ารับเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 10 พันตำรวจโท วีระยุทธ กับพวกจึงติดตามจับกุมจำเลยที่ 10 ได้ที่บ้านพักในตำบลแม่สาย เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 และที่ 9 โดยไม่เป็นความจริง เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสามเบิกความตามความจริง แม้พยานโจทก์ทั้งสามไม่เห็นจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 และที่ 9 เข้าไปเกี่ยวข้องกับการขนเมทแอมเฟตามีนของกลางโดยตรง แต่โจทก์มีคำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 เป็นพยาน โดยจำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 7 โทรศัพท์มาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ไปขนเมทแอมเฟตามีนที่บ้านของจำเลยที่ 10 เลขที่ 45 หมู่ที่ 1 บ้านเหมืองแดง ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นเงิน 100,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงชวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นลูกเลี้ยงไปด้วยโดยบอกว่า จะพาไปซื้อของที่อำเภอแม่สาย ได้ใช้รถกระบะ หมายเลขทะเบียน บพ 6941 เชียงราย ไปถึงบ้านจำเลยที่ 10 เวลาประมาณ 5 นาฬิกา จำเลยที่ 10 นำเมทแอมเฟตามีนที่อยู่ในถุงดำขนาดใหญ่ 3 ถุง มอบให้จำเลยที่ 1 โดยช่วยกันขนไปวางไว้ที่แค็บของรถจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 นั่งข้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 นั่งที่แค็บ จากนั้นจำเลยที่ 5 โทรศัพท์ถึงจำเลยที่ 1 สอบถามว่าขนเมทแอมเฟตามีนเสร็จหรือยัง และบอกเส้นทางโดยให้จำเลยที่ 1 ขับรถไปทางอำเภอเชียงแสน โดยให้ขับตามรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด รุ่นเรนเจอร์ สีเทา หมายเลขทะเบียน กม 402 เชียงราย นำเมทแอมเฟตามีนไปเก็บไว้ที่สวนของจำเลยที่ 5 ที่อำเภอแม่ลาว จำเลยที่ 1 ขับรถไปจนพบรถยนต์คันดังกล่าว และขับตามผ่านวัดพระธาตุผาเงา กิ่งอำเภอดอยหลวง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอเวียงชัย อำเภอเมืองเชียงราย และถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมที่สี่แยกถนนเลี่ยงเมือง จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ให้การสอดคล้องกันว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ไปพบกันที่ร้านอาหารคึ๊ และประชุมวางแผนในการขนเมทแอมเฟตามีนของกลางโดยให้มีรถขนเมทแอมเฟตามีน 1 คัน รถนำทาง 2 คัน เมื่อถึงวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กม 402 เชียงราย มีจำเลยที่ 5 นั่งข้างจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 6 นั่งด้านหลังจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 7 โทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 4 ให้ไปรอที่สี่แยกสัญญาณไฟจราจรไปอำเภอเชียงแสน จำเลยที่ 5 โทรศัพท์สอบถามจำเลยที่ 1 ว่าเอกสารครบหรือยัง จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับโทรศัพท์ตอบว่าได้รับเอกสารแล้ว จำเลยที่ 5 จำเสียงของจำเลยที่ 3 ได้เนื่องจากจำเลยที่ 3 เคยทำงานขนเมทแอมเฟตามีนมาด้วยกัน 1 ครั้ง จำเลยที่ 4 โทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 7 ทราบ แล้วขับรถมุ่งหน้าไปทางอำเภอเชียงแสนและตามกันไป จำเลยที่ 7 ขับรถนำหน้าโดยมีจำเลยที่ 8 และที่ 9 นั่งไปด้วย จำเลยที่ 4 ขับรถตามเป็นคันที่สองมีหน้าที่คอยสังเกตการณ์เจ้าพนักงานตำรวจ ระหว่างทางจำเลยที่ 4 โทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 8 และจำเลยที่ 5 โทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 1 เป็นระยะ จำเลยที่ 4 ขับรถผ่านวัดพระธาตุผาเงา อำเภอดอยหลวง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอเวียงชัย อำเภอเมืองเชียงราย ไปตามถนนเลี่ยงเมืองถึงถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเพื่อไปอำเภอแม่ลาว จำเลยที่ 5 ติดต่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยที่ 4 จึงขับรถย้อนกลับไปที่แยกสัญญาณไฟจราจรท่าสาย จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จำเลยที่ 8 ให้การว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 7 นัดจำเลยที่ 8 ไปที่ร้านอาหารคึ๊ ได้พบจำเลยที่ 7 และที่ 9 กับพวก จำเลยที่ 7 ชักชวนให้จำเลยที่ 8 ร่วมขนเมทแอมเฟตามีนโดยไปรับเมทแอมเฟตามีนที่อำเภอแม่สายไปจังหวัดลพบุรีแต่จะพักเมทแอมเฟตามีนไว้ที่สวนของจำเลยที่ 5 วางแผนให้จำเลยที่ 1 ขับรถไปรับเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 7 ขับรถนำทางเป็นคันแรก จำเลยที่ 4 ขับรถนำทางเป็นคันที่สอง เมื่อถึงกำหนดนัดจำเลยที่ 7 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 8 หมายเลขทะเบียน กพ 105 ภูเก็ต โดยมีจำเลยที่ 8 และที่ 9 โดยสารไปจอดรออยู่ที่ทางแยกสัญญาณไฟจราจรก่อนถึงสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 อำเภอแม่สาย จำเลยที่ 4 จอดรถอยู่ห่างประมาณ 1 กิโลเมตร จำเลยที่ 4 โทรศัพท์เข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 7 แต่จำเลยที่ 8 เป็นผู้รับโทรศัพท์ ได้รับแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเมทแอมเฟตามีนแล้ว จึงบอกจำเลยที่ 7 ให้ออกรถได้ จำเลยที่ 7 ขับรถไปจนถึงตลาดป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว ไม่สามารถโทรศัพท์ติดต่อรถของจำเลยที่ 4 ได้ เมื่อไปถึงด่านตรวจภูแกง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จำเลยที่ 10 ให้การว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 5 และที่ 7 มาว่าจ้างให้จำเลยที่ 10 ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาเก็บไว้และจะมีคนรับไป เมื่อจำเลยที่ 10 รับเมทแอมเฟตามีนมาแล้ว จำเลยที่ 1 ขับรถโดยมีผู้หญิง 2 คน นั่งมาด้วยและรับเมทแอมเฟตามีนของกลางไป เห็นได้ว่า คำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่าและเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิด กฎหมายมิได้ห้ามมิให้รับฟังเสียทีเดียว แต่ศาลจะต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เมื่อพิเคราะห์คำให้การดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมต่อเนื่องจากที่ถูกจับกุมทันทีและให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุ 1 วัน ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะคิดไตร่ตรองเพื่อบิดเบือนแต่งเติมข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากความจริง เชื่อว่า จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ให้การด้วยความสมัครใจ ไม่ปรากฏว่าจำเลยดังกล่าวได้รับประโยชน์จากการให้การซัดทอดจำเลยอื่น และคำให้การดังกล่าวไม่ได้เป็นการปัดความผิดให้เป็นความผิดของจำเลยอื่นเพียงลำพัง แต่เป็นการให้การถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ได้ประสบพบเห็นมา อีกทั้งยังสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญอย่างสมเหตุสมผลรวมทั้งสอดรับกับคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุม จึงรับฟังเป็นพยานประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งสิทธิแก่จำเลยที่ 5 ก่อนสอบสวน จึงรับฟังคำให้การของจำเลยที่ 5 ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเพียงแต่ห้ามมิให้นำถ้อยคำของจำเลยที่ 5 ที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 5 ผู้ให้ถ้อยคำเท่านั้น มิได้ห้ามมิให้รับฟังประกอบเพื่อลงโทษจำเลยอื่นแต่อย่างใด เมื่อพิเคราะห์คำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่าพฤติการณ์ของการขนเมทแอมเฟตามีนของกลางมีลักษณะเป็นขบวนการซึ่งมีการวางแผนแบ่งหน้าที่กันมาก่อน โดยให้มีรถขนเมทแอมเฟตามีน 1 คัน รถนำทางและสังเกตเจ้าพนักงานตำรวจอีก 2 คัน ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงจำนวนเมทแอมเฟตามีน 697,800 เม็ด ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมากแล้ว ผิดวิสัยที่คนร้ายจะยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิได้ร่วมขบวนการเข้าไปเกี่ยวข้องหรือรับรู้ในการขนเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วย สำหรับคดีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งนำสืบต่อสู้และฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ชวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปเที่ยวและจะพาไปซื้อของที่อำเภอแม่สายนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องขับรถไปรับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 10 ที่อำเภอแม่สาย และนำไปเก็บไว้ที่สวนของจำเลยที่ 5 ที่อำเภอแม่ลาว ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางและเสี่ยงกับการถูกจับกุม ไม่สมเหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะชวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลูกเลี้ยงของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหญิงอายุเพียง 26 ปี และ 20 ปี ให้เดินทางไปด้วยโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนร่วมในการขนเมทแอมเฟตามีนด้วย อีกทั้งเมทแอมเฟตามีนของกลางบรรจุอยู่ในถุงสีดำขนาดใหญ่ 3 ถุง เมื่อจำเลยที่ 1 นำมาวางที่แค็บของรถ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมทราบดีว่าถุงสีดำมีเมทแอมฟตามีนบรรจุอยู่ ซึ่งชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ยอมรับว่าตนเชื่อว่าเป็นเมทแอมเฟตามีน แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับยินยอมนั่งรถไปกับจำเลยที่ 1 นับว่าผิดวิสัยของวิญญูชนผู้สุจริตโดยทั่วไป ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังให้การยอมรับว่าระหว่างทางมีคนโทรศัพท์บอกเส้นทางแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 3 ครั้ง แต่จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับโทรศัพท์แทน แสดงว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการขนเมทแอมเฟตามีนของกลาง ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ทำตามที่จำเลยที่ 1 สั่งนั้น เห็นว่าเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย ไม่น่ารับฟัง เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แล้วจำเลยที่ 1 สามารถขับรถขนเมทแอมเฟตามีนไปได้โดยลำพัง แต่กลับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นหญิงอายุ 26 ปี และ 20 ปี ตามลำดับ นั่งไปด้วย ส่อแสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั่งรถไปกับจำเลยที่ 1 เพื่ออำพรางเจ้าพนักงานตำรวจ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง พยานหลักฐานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีน้ำหนักหักล้าง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกขนเมทแอมเฟตามีนของกลางโดยทำหน้าที่นั่งรถไปกับจำเลยที่ 1 เพื่ออำพรางเจ้าพนักงานตำรวจ จึงเป็นความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้กระทำความผิดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และฐานร่วมกันมีเมทแอมฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย สำหรับคดีของจำเลยที่ 7 และที่ 9 นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 7 และที่ 9 นั่งมาในรถคันเดียวกับจำเลยที่ 8 แต่เป็นคนละคันกับที่จำเลยที่ 1 บรรทุกเมทแอมเฟตามีน และถูกจับกุมได้ที่ด่านตรวจปูแกง ซึ่งเป็นคนละจุดกับที่จำเลยที่ 1 ถูกจับกุม อีกทั้งรถคันที่จำเลยที่ 7 และที่ 9 นั่งมาก็ไม่ได้บรรทุกเมทแอมเฟตามีนมาด้วยก็ตาม แต่พฤติการณ์การขนเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ 1 กับพวกมีลักษณะเป็นขบวนการซึ่งมีการวางแผนแบ่งหน้าที่กันมาก่อน โดยมีรถขนเมทแอมเฟตามีน 1 คัน รถนำทางและสังเกตเจ้าพนักงานตำรวจอีก 2 คัน ดังที่วินิจฉัยข้างต้น นอกจากนั้นโจทก์ยังมีดาบตำรวจ เกรียงไกร เป็นพยานเบิกความว่า พนักงานสอบสวนประสานขอตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จากบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ซึ่งบริษัททั้งสองได้ส่งข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 พยานตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวแล้วพบว่ามีความสัมพันธ์ในการใช้โทรศัพท์ระหว่างกัน จึงได้จัดทำความสัมพันธ์การใช้โทรศัพท์ระหว่างกันเป็นแผนผัง เมื่อพิเคราะห์ข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว พบว่าช่วงวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 7 โทรศัพท์ถึงจำเลยที่ 5 เวลา 4.23 นาฬิกา จำเลยที่ 5 โทรศัพท์ถึงจำเลยที่ 7 เวลา 4.29 นาฬิกา จำเลยที่ 5 โทรศัพท์ถึงจำเลยที่ 1 เวลา 5.21 นาฬิกา และ 5.22 นาฬิกา จำเลยที่ 7 โทรศัพท์ถึงจำเลยที่ 1 เวลา 5.27 นาฬิกา 5.33 นาฬิกา และ 5.37 นาฬิกา จำเลยที่ 5 โทรศัพท์ถึงจำเลยที่ 1 เวลา 5.40 นาฬิกา 5.42 นาฬิกา 5.44 นาฬิกา 5.48 นาฬิกา 5.51 นาฬิกา 6.07 นาฬิกา 6.11 นาฬิกา 6.15 นาฬิกา 6.20 นาฬิกา 6.43 นาฬิกา 6.55 นาฬิกา และ 7.09 นาฬิกา เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 7 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อกันเป็นระยะในช่วงเวลาเกิดเหตุ แผนผังดังกล่าวยังแสดงย่านการใช้โทรศัพท์ติดต่อระหว่างกัน เริ่มตั้งแต่ย่านริมกก แม่สาย เชียงแสน ดอยหลวง เวียงเชียงรุ้ง และเวียงชัย ตามลำดับ อันเป็นเส้นทางที่สอดรับกับเส้นทางที่จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกเมทแอมเฟตามีนของกลางไปดังที่จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวน บ่งชี้ว่ารถคันที่จำเลยที่ 7 นั่งมาเป็นรถนำทางและคอยสังเกตเจ้าพนักงานตำรวจ และจำเลยที่ 7 เป็นผู้บอกเส้นทางแก่จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 9 หากไม่ได้ร่วมขบวนการขนเมทแอมเฟตามีนด้วย คงไม่นั่งมาในรถคันเดียวกับจำเลยที่ 7 และย่อมทราบดีว่าจำเลยที่ 7 โทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 1 และที่ 5 เกี่ยวกับการขนเมทแอมเฟตามีน ที่จำเลยที่ 7 ฎีกาว่า การได้มาซึ่งข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 14 จัตวา จึงเป็นการได้มาโดยไม่ชอบ ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 นั้น เห็นว่า ข้อมูลตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 14 จัตวา หมายถึง ข้อเท็จจริงหรือข้อความที่เป็นเนื้อหาของการติดต่อสื่อสารกันทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ส่วนข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นข้อเท็จจริงว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการใช้งานกันหรือไม่ เพียงใด มิใช่ข้อมูลตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟัง เมื่อพิเคราะห์คำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ ตลอดทั้งชั้นสอบสวนจำเลยที่ 7 และที่ 9 ให้การรับสารภาพแล้ว พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง พยานหลักฐานจำเลยที่ 7 และที่ 9 ไม่มีน้ำหนักหักล้าง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 7 และที่ 9 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกขนเมทแอมเฟตามีนของกลางโดยมีหน้าที่นำทางรถขนเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ 1 และคอยสังเกตเจ้าพนักงานตำรวจ จึงเป็นความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้กระทำความผิดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และฐานร่วมกันมีเมทแอมฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 และที่ 9 ในข้ออื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 และที่ 9 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 และที่ 9 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน