แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการต้องยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/26 และก่อนการมีคำสั่งชี้ขาดเรื่องการขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เมื่อการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับชำระหนี้ที่จะต้องดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้นั้น พ.ร.บ.ล้มละลายฯ บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179, 180 มาอนุโลมใช้ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งบริษัทโรบินสันแพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นค่าหุ้นกู้และค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 43,603,888.88 ดอลลาร์สหรัฐ และ 38,088.64 ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3.25 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ให้การฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/29 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน
ต่อมาเจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเงิน 54,036,119.31 ดอลลาร์สหรัฐ และ 38,088.64 ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3.25 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า เจ้าหนี้ขอแก้ไขจำนวนเงินต้นของหุ้นกู้ที่ผิดพลาดให้ตรงกับเอกสารหลักฐานแห่งหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ตั้งแต่แรก เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเพียงเล็กน้อยโดยสุจริต
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งผู้ทำแผนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศโฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนเพื่อให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2543 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าหุ้นกู้เป็นจำนวนเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยภายในกำหนดเวลา ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าหุ้นกู้ดังกล่าวในส่วนที่เป็นจำนวนเงินดอลลาร์สหรัฐหรือไม่ เห็นว่า แม้คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการที่เจ้าหนี้ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะได้แนบเอกสารอันเป็นหลักฐานทั้งปวงแห่งหนี้ โดยมีสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้สำหรับหุ้นกู้ในส่วนที่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่า 49,760,000 ดอลลาร์สหรัฐ ดังที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ก็ตาม แต่คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ก็มิได้ระบุจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ประสงค์ขอรับชำระหนี้เต็มตามมูลหนี้ในสัญญาดังกล่าวกลับมีข้อความและคำขอในจำนวนหนี้สอดคล้องกับบัญชีแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้ซึ่งแสดงรายละเอียดของจำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้ยืนยันขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าวสำหรับต้นเงินเพียง 40,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น ซึ่งผู้ทำแผนได้ตรวจคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้แล้วก็เห็นว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในต้นเงินจำนวนดังกล่าว จึงมิได้โต้แย้งคัดค้าน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงจะอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ต้นเงินเกินจำนวนนี้ไม่ได้ เพราะเป็นการเกินคำขอตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6746/2539 ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ได้เต็มจำนวนโดยมิได้กำหนดตัวเลขจำนวนเงินไว้ในคำสั่งนั้นย่อมมีความหมายแสดงชัดเจนอยู่ในตัวว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นที่มีต้นเงินมูลค่าเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ 40,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 43,603,888.88 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้หาได้มีข้อเคลือบคลุมสงสัยอันไม่อาจโต้แย้งได้แต่อย่างใด การที่เจ้าหนี้มาร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้แก้ไขคำขอรับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวจากต้นเงิน 40,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ย 3,603,888.88 ดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นต้นเงิน 49,570,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ย 4,466,119.31 ดอลลาร์สหรัฐ นั้น แม้จำนวนเงินที่แก้ไขเพิ่มเติมจะเป็นมูลหนี้และอาศัยหลักฐานเดียวกันกับที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับชำระหนี้ที่จะต้องยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2532 และก่อนการมีคำสั่งชี้ขาดเรื่องการขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 ซึ่งล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ทั้งยังเป็นระยะเวลาภายหลังที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2543 และไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าว เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับชำระหนี้ได้ ทั้งการขอแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหนี้ที่จะต้องดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลายื่นคำขอชำระหนี้นั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179, 180 มาอนุโลมใช้ได้ดังที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2532 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2530 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของเจ้าหนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน