คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในวันนัดพิจารณา ศาลได้สอบถามจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองก็ได้แถลงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ต่อศาล การแถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นคำให้การด้วยวาจา แม้ศาลจะมีคำสั่งว่าหากจำเลยประสงค์จะยื่นคำให้การให้ยื่นคำให้การภายใน 15 วัน ก็ตาม ก็เพียงแต่ให้จำเลยที่ 2 มีโอกาสยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมจากที่ได้ให้การด้วยวาจาเท่านั้น และแม้ศาลจะระบุในคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การก็หมายความว่า จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การเป็นหนังสือตามคำสั่งของศาลเท่านั้น เมื่อศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยให้จำเลยที่ 2 นำพยานเข้าสืบตามประเด็นในคำให้การแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การอีก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้หมายเรียก ธ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้โอนค่าใช้จ่ายของโจทก์ในการเดินทางไปทำงานที่ไต้หวันให้แก่ ธ. ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการเข้ามาในคดีนี้แล้ว ธ. ย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม ธ. จึงไม่อาจถูกจำเลยที่ 2 ฟ้องเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยตามความใน ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งโจทก์ไปทำงานต่างประเทศแต่ไม่ครบกำหนด เพราะนายจ้างล้มละลายไม่มีงานให้โจทก์ทำ ดังนี้ เป็นกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์ไม่สามารถทำงานได้จนสิ้นสุดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน เพราะโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยมิใช่สาเหตุจากโจทก์ และแม้เหตุดังกล่าวจะมิใช่เกิดจากความผิดของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากโจทก์ไปแล้วเป็นอัตราส่วนกับระยะเวลาที่โจทก์ได้ทำงานตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 46

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สมัครไปทำงานกับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่ามีงานให้ทำที่ไต้หวัน ค่าจ้างเดือนละ 15,840 ดอลลาร์ไต้หวัน โดยโจทก์เสียค่าใช้จ่ายและค่าบริการให้จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 185,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้โจทก์ไปทำสัญญากับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ส่งโจทก์ไปทำงานที่ไต้หวัน โจทก์ทำงานได้ 4 เดือน นายจ้างล้มละลายไม่สามารถจ้างโจทก์ต่อได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนเงิน 185,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 จัดส่งโจทก์ไปทำงานต่างประเทศโดยได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน 30,000 บาท จากจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ติดต่อให้จำเลยที่ 1 จัดส่งโจทก์ไปแทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้รับเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดเป็นเงิน 30,000 บาท
จำเลยที่ 2 ให้การด้วยวาจาว่า จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้จัดส่งคนงานไปทำงานที่ต่างประเทศ จำเลยที่ 2 ได้รับเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ แล้วโจทก์เดินทางกลับประเทศไทยและมาติดต่อขอรับเงินคืน จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 185,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางระบุว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การจึงขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การนั้น เห็นว่า ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ศาลแรงงานกลางได้สอบถามจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองก็ได้แถลงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ต่อศาลดังที่ศาลแรงงานกลางบันทึกคำแถลงไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 8 มีนาคม 2545 การแถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นคำให้การด้วยวาจา แม้ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่งว่า หากจำเลยประสงค์จะยื่นคำให้การให้ยื่นคำให้การภายใน 15 วัน ก็ตาม ก็เพียงแต่ให้จำเลยที่ 2 มีโอกาสยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมจากที่จำเลยที่ 2 ได้ให้การด้วยวาจาเท่านั้น และแม้ศาลแรงงานกลางจะระบุในคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การก็หมายความว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การเป็นหนังสือตามคำสั่งของศาลแรงงานกลางเท่านั้น ทั้งศาลแรงงานกลางก็ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยให้จำเลยที่ 2 นำพยานเข้าสืบตามประเด็นในคำให้การแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การอีก อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้หมายเรียกนายธนาพร วงศ์คำแก้ว เข้ามาเป็นจำเลยร่วมนั้น เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 ที่ขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเรียกนายธนาพรเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ จำเลยที่ 2 อ้างในคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ได้โอนเงินค่าใช้จ่ายของโจทก์ในการเดินทางไปทำงานที่ไต้หวันให้แก่นายธนาพรซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นตัวการของนายธนาพร เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการเข้ามาในคดีนี้แล้ว นายธนาพรในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม นายธนาพรจึงไม่อาจถูกจำเลยที่ 2 ฟ้องเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อ้างว่า เหตุที่โจทก์ไม่ได้ทำงานต่อไปเพราะนายจ้างที่ไต้หวันล้มละลาย มิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 46 ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศไม่สามารถจัดให้คนหางานเดินทางได้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 38 หรือในกรณีที่คนหางานไม่ได้งานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางานหรือได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือได้ตำแหน่งงาน หรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน และคนหางานไม่ประสงค์ที่จะทำงานนั้น ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากคนหางานไปแล้วทั้งหมดให้แก่คนหางานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาตามมาตรา 38 หรือนับแต่วันที่คนหางานเดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วแต่กรณี
ในกรณีคนหางานไม่สามารถทำงานได้จนสิ้นสุดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางานเพราะถูกเลิกจ้างโดยมิใช่สาเหตุจากคนหางาน ผู้รับอนุญาตต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางานไปแล้วเป็นอัตราส่วนกับระยะเวลาที่คนหางานได้ทำงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คนหางานขอรับคืนฯลฯ” ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2543 โจทก์สมัครไปทำงานที่ไต้หวันกับจำเลยที่ 2 ที่บริษัทสยาม ที พี จำกัด โดยโจทก์ได้ชำระเงินจำนวน 185,000 บาท ให้แก่พนักงานของบริษัทสยาม ที พี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีงานให้ทำจึงส่งโจทก์ไปให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดส่งไป ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งโจทก์ไปทำงานต่างประเทศ โจทก์เดินทางไปทำงานที่ไต้หวันแต่ได้ทำงานเพียง 4 เดือน ไม่ครบกำหนด นายจ้างล้มละลายไม่มีงานให้โจทก์ทำ โจทก์จึงเดินทางกลับประเทศไทย ดังนี้ เป็นกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์ไม่สามารถทำงานได้จนสิ้นสุดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางานเพราะโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยมิใช่สาเหตุจากโจทก์ แม้เหตุดังกล่าวจะมิใช่เกิดจากความผิดของจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดตามบทบัญญัติข้างตน ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าค่าใช้จ่ายในการส่งโจทก์ไปทำงานรวมทั้งค่าเครื่องบินก็เป็นเงินประมาณ 100,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 2 คืนเงินแก่โจทก์นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อ้างว่า โจทก์ได้ทำงานที่ไต้หวันตามสัญญาเป็นเวลา 4 เดือน ก่อนที่นายจ้างจะล้มละลาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 คืนเงินทั้งหมดให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะเพิ่งยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาได้ความว่า โจทก์เดินทางไปทำงานที่ไต้หวัน แต่ได้ทำงานเพียง 4 เดือน ไม่ครบกำหนด ดังนี้ จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากโจทก์ไปแล้วเป็นอัตราส่วนกับระยะเวลาที่โจทก์ได้ทำงานตามบทบัญญัติกฎหมายข้างต้น แต่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางมิได้รับฟังข้อเท็จจริงว่ากำหนดระยะเวลาทำงานตามสัญญาจัดหางานมีเพียงใด ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาจึงยังไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากโจทก์เป็นจำนวนเท่าใด จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้เสียก่อน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะในส่วนจำนวนเงินที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระแก่โจทก์ แล้วให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่ากำหนดระยะเวลาทำงานของโจทก์ตามสัญญาจัดหางานมีเพียงใดแล้วกำหนดจำนวนเงินดังกล่าวเสียใหม่และมีคำพิพากษาต่อไปตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share