คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7294/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1กู้ยืมเงินโจทก์650,000บาทโดยมีจำเลยที่2ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์โดยมีใจความสำคัญว่าผู้ค้ำประกันยอมชำระหนี้แทนจำเลยที่1แก่โจทก์ถ้าจำเลยที่1ผิดนัดไม่ชำระหนี้ดังนี้จำเลยที่2จึงเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่1ส่วนข้อตกลงอื่นๆที่ระบุว่าเมื่อผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนลูกหนี้จนครบแล้วเจ้าหนี้จะดำเนินการถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญาให้แก่ลูกหนี้ต่อไปเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับความรับผิดของผู้ค้ำประกันและไม่ใช่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเมื่อจำเลยที่1ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์จำเลยที่2ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องชำระหนี้แทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีนางเสน่ห์ เพ็ชรกลมโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส โจทก์ได้ให้นางเสน่ห์เป็นตัวแทนให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินของโจทก์รวม 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน711,670 บาท โดยทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้กู้ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และ 3 จำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ย วันที่ 4 สิงหาคม 2532 โจทก์จึงเข้ารับเอาสัญญากู้ทั้งสองฉบับ เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน จำเลยที่ 1 เจรจาขอลดยอดหนี้ลงเหลือ 650,000 บาท และตกลงชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2532 โจทก์ตกลงยินยอมจำเลยที่ 2 มารดาของจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้จำนวนดังกล่าวตามสัญญาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4เมื่อครบกำหนดจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้เงินจำนวน650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันผิดนัดคือวันที่ 1 กันยายน 2532 ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย50,645.74 บาท และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันจากต้นเงิน650,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้เงินตามสัญญากู้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมส่วนสัญญากู้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้กับโจทก์จริง แต่ได้มีการคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนรวมเข้าไปในสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1เป็นหนี้เงินกู้โจทก์และภรรยารวมเป็นเงิน 285,670 บาทจำเลยที่ 1 ออกเช็คค้ำประกันไว้ แต่มีการนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์และภรรยาได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี ต่อมาบังคับให้จำเลยที่ 1 ใช้ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามรวมเป็นเงิน 650,000 บาท เพื่อแลกเปลี่ยนมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ไปดำเนินคดีมิใช่การที่จำเลยที่ 1 เจรจาเพื่อขอลดยอดหนี้ดังฟ้องโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันตามฟ้อง แต่เป็นการทำสัญญาเพื่อแลกเปลี่ยนไม่ให้มีการจับกุมจำเลยที่ 1 ในคดีอาญา และยอมใช้ค่าติดตามทวงถาม ค่าใช้จ่ายในการจับกุมรวมทั้งดอกเบี้ยในมูลคดีอาญานั้น มิใช่ค้ำประกันการกู้ยืมเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน620,000 บาท แก่โจทก์
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน650,000 บาท แก่โจทก์ และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 104,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระแทน
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้ออื่น ๆ หลายประการแล้ววินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2ต้องรับผิดใช้เงินจำนวนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก่โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันหรือไม่ โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นมารดาของจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือค้ำประกันยินยอมชำระหนี้จำนวน 650,000 บาทแก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 จริง แต่ยอดเงินจำนวนดังกล่าวเป็นยอดเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ยืมจากโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการติดตามตัวจำเลยที่ 1 มาดำเนินคดี และโจทก์รับว่าจะถอนคำร้องทุกข์ แต่โจทก์กลับผิดสัญญา แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ดำเนินคดีข้อหาผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ปัจจุบันยังไม่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินกู้โจทก์จำนวน 650,000 บาทจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันแก่เจ้าหนี้คือโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 มีใจความสำคัญว่าผู้ค้ำประกันยอมตกลงชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 จำนวน 650,000 บาทแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ ดังนี้จำเลยที่ 2จึงเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ส่วนข้อตกลงอื่น ๆที่ระบุว่าเมื่อผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนลูกหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จนครบแล้ว เจ้าหนี้จะดำเนินการถอนคำร้องทุกข์ให้แก่ลูกหนี้ต่อไปเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับความรับผิดของผู้ค้ำประกันและไม่ใช่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้น ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องชำระแทน
พิพากษายืน

Share