คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7820/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อ. ลูกจ้างจำเลยรับรถยนต์ของโจทก์ไว้เพื่อทำการล้างอัดฉีดซึ่งเป็นกิจการของจำเลยการที่อ. มอบรถยนต์คันดังกล่าวให้ผู้อื่นไปโดยผู้นั้นไม่มีหลักฐานใบรับรถมาแสดงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเมื่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยจำเลยจึงต้องร่วมรับผิดกับอ.ในผลแห่งละเมิดด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา425

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน8 ร-5699 กรุงเทพมหานคร โดยเช่าซื้อจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการปั๊มน้ำมัน จำเลยที่ 2ประกอบกิจการรับประกันภัยรถยนต์และเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวจากโจทก์ ซึ่งขณะเกิดเหตุอยู่ในระหว่างที่สัญญาประกันภัยมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2532 เวลาประมาณ 8.30 นาฬิกาโจทก์ให้นายสุเทพ สุทธาภรณ์ นำรถยนต์คันดังกล่าวไปว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ล้างอัดฉีด ถ่ายน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ และน้ำมันเพลาท้ายพนักงานของจำเลยที่ 1 ออกใบรับรถให้แก่นายสุเทพไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาในตอนเย็นวันเดียวกัน นายสุเทพนำใบรับรถไปขอรับรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 แต่ปรากฎว่ามีบุคคลอื่นไปขอรับรถยนต์คันดังกล่าวออกไปแล้ว เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 1กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ และรถยนต์คันดังกล่าวสูญหายระหว่างการรับประกันภัยของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดใช้ราคารถยนต์และค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 405,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 354,750 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ผู้ที่รับรถยนต์ของโจทก์ไว้ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้จากโจทก์ แต่จำกัดวงเงินชดใช้เฉพาะการลักทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท รถยนต์พิพาทสูญหายไม่ได้เกิดจากการลักทรัพย์จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน320,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ แต่ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดไม่เกิน 200,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน270,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่านายอู๊ดเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1การที่นายอู๊ดมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้ผู้อื่นไปโดยผู้นั้นไม่มีหลักฐานใบรับรถมาแสดงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเมื่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์การที่นายอู๊ดรับรถยนต์คันดังกล่าวไว้เพื่อทำการล้างอัดฉีดและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันชนิดต่าง ๆ ภายในรถและมอบคืนให้แก่คนที่มาขอรับเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับนายอู๊ดในผลแห่งละเมิดด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ฎีกาจำเลยที่ 1ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share