แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานของโจทก์ได้นำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จ่ายเงินชดเชยให้ ซึ่งคำนวณมาจากข้อมูลค่าเสื่อมราคารถยนต์ ค่าดอกเบี้ยเช่าซื้อ ค่าภาษีประจำปี ค่าประกันภัยค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนี้ การจ่ายเงินของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจ่ายเงินชดเชยค่าพาหนะเหมาจ่ายแก่พนักงานของโจทก์ หาใช่จำนวนเงินที่พนักงานของโจทก์ได้จ่ายเป็นค่าพาหนะไปในการปฏิบัติการตามหน้าที่แล้วเบิกคืนจากโจทก์โดยไม่เหลือเป็นประโยชน์แก่ตน ฉะนั้นเงินได้ดังกล่าวที่พนักงานโจทก์ได้รับไปจึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(1) จำนวนเงินชดเชยค่าพาหนะเหมาจ่ายที่เกินอัตรากิโลเมตรละ90 สตางค์ ซึ่งจำเลยนำเอาระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการใช้ยานพาหนะส่วนตัวเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526มาเทียบเคียงนั้น ถือได้ว่าเป็นประโยชน์ที่พนักงานโจทก์ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) เมื่อโจทก์มิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50และนำส่งตามมาตรา 52 จึงต้องร่วมรับผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 54
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับบริษัทโมเนีย (ประเทศไทย)พี ที วาย จำกัด ทำสัญญาทางการค้าหากำไรร่วมกันในนาม”กิจการร่วมค้า ซีแพค-โมเนีย” จำเลยมีหนังสือแจ้งให้ตัวการร่วมค้าซีแพค-โมเนีย ให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งกิจการร่วมค้า ซีแพค-โมเนีย ได้จ่ายให้พนักงานในปี พ.ศ. 2528 โดยมิได้หักภาษีเงินได้ไว้ณ ที่จ่าย และนำส่งให้ถูกต้อง จึงต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โจทก์อุทธรณ์คัดค้านต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์เห็นว่าการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และเงินเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย กิจการร่วมค้าซีแพค-โมเนียไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยคืนเงินภาษีและเงินเพิ่ม 173,961.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิขอคืนภาษีขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย กับให้จำเลยคืนเงินภาษีและเงินเพิ่ม173,961.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 40 บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมินนั้นคือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ (1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าเป็นเงินเดือน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน” และมาตรา 42 บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ (1) ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือค่าพาหนะซึ่งลูกจ้างได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น (2) ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทางตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยอัตราค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง” ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์จำเลยนำสืบโดยมิได้โต้แย้งกันว่าพนักงานของโจทก์ได้นำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ให้แก่โจทก์และโจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานของโจทก์ในการดังกล่าวไปในอัตรากิโลเมตรละ 4.85 บาท สำหรับ1,000 กิโลเมตรแรก และอัตรากิโลเมตรละ2.35 บาท สำหรับกิโลเมตรที่ 1001 ขึ้นไป อัตราค่าชดเชยดังกล่าวโจทก์นำมาจากการคิดคำนวณของนายกมล พนักงานบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ซึ่งคำนวณจากข้อมูลค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ ค่าดอกเบี้ยในการเช่าซื้อรถยนต์ ค่าภาษีประจำปีสำหรับรถ ค่าประกันภัย ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่นหัวเทียน ทองขาว คอนเดนเซอร์ สายพานหม้อกรองน้ำมันเครื่อง หม้อกรองอากาศ ค่าน้ำมันเครื่องน้ำมันเบรค น้ำมันเฟืองท้าย น้ำมันเกียร์ ค่ายาง ค่าแบตเตอรี่ค่าซ่อมบำรุง และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายแก่พนักงานของโจทก์ไปตามวิธีการดังกล่าวนั้นมีลักษณะ เป็นการจ่ายเงินชดเชยค่าพาหนะเหมาจ่ายแก่พนักงานของโจทก์ที่ได้นำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้เป็นพาหนะเดินทางไปปฏิบัติการตามหน้าที่ให้แก่โจทก์ หาใช่จำนวนเงินที่พนักงานของโจทก์ได้จ่ายเป็นค่าพาหนะไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นตามความเป็นจริงแล้วเบิกคืนจากโจทก์ตามจำนวนที่ถูกต้องตรงกันไม่เหลือเป็นประโยชน์แก่พนักงานของโจทก์อยู่อีกไม่ ฉะนั้นเงินได้ดังกล่าวที่พนักงานของโจทก์ได้รับไปจึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(1) การที่จำเลยนำระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการใช้ยานพาหนะส่วนตัวเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 ซึ่งออกโดยอนุวัตตามความในมาตรา 26 แห่งพระราชกฤษฎีกา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 ข้อ 4 กำหนดว่า”การใช้ยานพาหนะส่วนตัวเดินทางไปราชการให้เบิกเงินชดเชยให้แก่ผู้เดินทางไปราชการ ซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแล้วแต่กรณีได้ในอัตราต่อคันดังต่อไปนี้ (1) รถยนต์ส่วนบุคคลกิโลเมตรละ 90 สตางค์” มาเทียบเคียงกันกรณีที่โจทก์จ่ายเงินชดเชยค่าพาหนะให้แก่พนักงานของโจทก์ในการที่พนักงานของโจทก์นำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้เป็นพาหนะเดินทางไปปฏิบัติการตามหน้าที่ของแก่โจทก์ในส่วนที่อยู่ในอัตรากิโลเมตรละ 90 สตางค์ ยอมให้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้จึงเหมาะสมแล้ว ดังนั้นจำนวนชดเชยค่าพาหนะเหมาจ่ายที่เกินอัตรากิโลเมตรละ 90 สตางค์ไปนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นประโยชน์ที่พนักงานโจทก์ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของโจทก์เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) เมื่อโจทก์มิได้หักภาษีณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 และนำส่งตามมาตรา 52 จึงต้องร่วมรับผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 54การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์