คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 84/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งนำที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดมาลงทุนเข้าหุ้นในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน โดยใช้เป็นที่ตั้งโรงสีของห้างหุ้นส่วน. แม้จะไม่มีการจดทะเบียนโอนโฉนดที่พิพาทก็เป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนนั้น. (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 533/2511).
ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้. เมื่อหุ้นส่วนคนหนึ่งถูกฟ้องเกี่ยวกับหนี้สินของห้างหุ้นส่วน.และศาลพิพากษาให้ชำระหนี้. แม้โฉนดที่พิพาทจะยังเป็นชื่อของหุ้นส่วนอีกคนหนึ่ง. เจ้าหนี้ย่อมมีอำนาจนำยึดที่พิพาทเพื่อบังคับชำระหนี้ได้. หุ้นส่วนซึ่งมีชื่อในโฉนดที่พิพาทหรือบุตรของหุ้นส่วนนั้นหามีสิทธิร้องขอให้ถอนการยึดได้ไม่. (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 288/2488).
ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนซึ่งไม่เป็นนิติบุคคลนั้น. ไม่อาจครอบครองที่ดินของผู้เป็นหุ้นส่วนโดยอำนาจปรปักษ์ได้.แต่เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนนำที่ดินมาลงทุนเข้าหุ้นด้วยย่อมเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายได้.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากคดีแดงที่ 38/2508 ซึ่งศาลจังหวัดสมุทรปราการ พิพากษาให้นายทองเอี๋ยวจำเลยชำระหนี้แก่นางสาวจูแซ่ตั้ง โจทก์ จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงนำยึดที่ดินโฉนดที่ 5925 เพื่อบังคับชำระหนี้ ผู้ร้องทั้งสองร้องขัดทรัพย์ว่า ผู้ร้องเป็นบุตรนายง้อ ที่ดินนี้เป็นของนายง้อ นายง้อตาย เป็นมรดกตกได้แก่ผู้ร้อง ขอให้ถอนการยึด นางสาวจูโจทก์ให้การว่า ที่ดินนี้นายง้อนำมาลงทุนเป็นหุ้นส่วนทำโรงสีร่วมกับจำเลยและพวก เป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนและต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษา ศาลจังหวัดสมุทรปราการสืบพยานเสร็จก่อนมีคำสั่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงว่าจำเลยนี้ถูกโจทก์คดีนี้ฟ้องล้มละลายต่อศาลแพ่งศาลแพ่งสั่งพิทักษ์ทรัพย์และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้วขอให้โอนการยึดที่ดินไปไว้ในคดีล้มละลาย ศาลจังหวัดสมุทรปราการสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีร้องขัดทรัพย์ ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าไม่มีสิทธิยึดที่พิพาท เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ขอให้ถอนการยึด นางสาวจูเจ้าหนี้ผู้แทนโจทก์คัดค้านเช่นเดิม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลแพ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงคัดค้าน ศาลแพ่งฟังว่า ที่พิพาทมิใช่ทรัพย์สินของจำเลย จึงไม่เป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ แม้ผู้ร้องจะมิใช่เจ้าของที่พิพาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่มีอำนาจยึดและขายที่พิพาทได้ มีคำสั่งให้ปล่อยที่พิพาทพ้นการยึดไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กับผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ที่พิพาทไม่ใช่ของจำเลย และพยานโจทก์ไม่พอรับฟังว่านายง้อได้เอาที่พิพาทมาลงทุนในโรงสีย่งเฮงหลีพิพากษายืนในผลที่ให้ปล่อยที่พิพาทพ้นการยึด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นของนายทองเอี๋ยวจำเลยเป็นส่วนตัวหรือไม่ เพราะเมื่อนางสาวจูเจ้าหนี้ผู้แทนโจทก์เป็นโจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลยในคดีแดงที่ 38/2508 นั้น ได้ระบุในฟ้องอยู่แล้วว่าจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโรงสีย่งเฮงหลี และกู้เงินรายนี้มาใช้ในกิจการของโรงสี จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธ และแถลงยอมรับว่าเป็นหนี้จริงตามฟ้อง เมื่อนางสาวจูนำยึดที่พิพาทก็ได้อ้างและยืนยันว่าที่ดินโฉนดนี้มีชื่อนายง้อ แซ่ลิ้ม เป็นเจ้าของ โดยนายง้อเป็นหุ้นส่วนโรงสีนี้ และเอาที่ดินนี้มาลงหุ้นโรงสีด้วย เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรนายง้อมาร้องขอให้ถอนการยึด นางสาวจูก็ให้การต่อสู้เช่นนี้ตลอดมาถึงชั้นการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฉะนั้นประเด็นสำคัญจึงมีว่าที่พิพาทนี้นายง้อ แซ่ลิ้ม ได้นำมาลงหุ้นโรงสีย่งเฮงหลีด้วยหรือไม่ ถ้านายง้อไม่ได้นำมาลงหุ้นด้วยก็ต้องถอนการยึด ถ้านายง้อนำมาลงหุ้นด้วยก็ตกเป็นทรัพย์สินของโรงสีซึ่งเป็นหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 533/2511) ซึ่งหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1050นางสาวจูกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจยึดที่พิพาทได้ผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันรวมทั้งจำเลยและนายง้อหรือผู้ร้องบุตรจะขอให้ถอนการยึดไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 288/2488) ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายง้อได้เอาที่พิพาทมาลงหุ้นโรงสีด้วยจริง ข้อที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้นายง้อจะนำที่ดินลงหุ้นโรงสีด้วย และหุ้นส่วนโรงสีได้ครอบครองมาเกิน 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะหุ้นส่วนโรงสีไม่เป็นนิติบุคคล และนายง้อได้ร่วมครอบครองในฐานะหุ้นส่วนอยู่ด้วย มิใช่นายง้อสละกรรมสิทธิ์นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยแต่เห็นต่อไปว่า เมื่อคดีฟังได้ว่านายง้อได้นำที่ดินพิพาทลงหุ้นโรงสีด้วย ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนย่อมตกเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งหุ้นส่วนด้วยกันจะต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน ที่ดินพิพาทจึงต้องรับผิดในการบังคับคดีตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 19, 109 ผู้ร้องจะขอให้ถอนการยึดมิได้ พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้ร้อง.

Share