แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เทศบัญญัติของเทศบาลเมืองตะกั่วป่าเรื่องสพานท่าเทียบเรือสาธารณ 2493 ลงวันที่ 4 ม.ค.2494 ข้อ 6 ป.วิธีพิจารณาแพ่ง ม.142(5)
ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเมื่อศาลเห็นสมควรจะยกขึ้นวินิจฉัยก็ได้
เทศบาลจะมีอำนาจตราเทศบัญญัติเรื่องสพานท่าเทียบเรือสาธารณะได้ก็แต่ภายในขอบเขตต์อำนาจของตนโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
พ.ร.บ. เทศบาล 2486 มาตรา 70 เพียงแต่ให้อำนาจเทศบาลกระทำกิจการใด ๆ ภายในเขตต์เทศบาลเช่นให้มี ฯลฯ ท่าเทียบเรือ ฯลฯเท่านั้น ดังนี้ เทศบาลไม่มีอำนาจออกเทศบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างหรือทำให้เกิดสิ่งกีดขวางขึ้นลงและไปมาในเขตต์ท่าของเทศบาลภายในรัศมี 500 เมตร ดังนี้แม้จำเลยจะได้ปลูกสร้างท่าเทียบเรือขึ้นภายในรัศมีดังกล่าว ก็ไม่ผิดเพราะเทศบัญญัตินั้นไม่มีผลใช้บังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นกรมการของบริษัทลงเส็งจำกัด กับพวกได้กระทำฝ่าฝืนเทศบัญญัติกล่าวคือสมคบกันจัดการปลูกสร้างสพานท่าเทียบเรือขึ้นในบริเวณเขตต์ท่าของเทศลาลเมืองตะกั่วป่าตามแผนที่ท้ายฟ้อง เป็นเหตุให้กีดขวางแก่การใช้ท่าเทียบเรือของเทศบาล โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามเทศบัญญัติ ขอให้ลงโทษตามพ.ร.บ. เทศบาล ๒๔๘๖ มาตรา ๕๔,๗๐ พ.ร.บ. เทศบาล ๒๔๙๖ มาตรา ๖,๖๐ เทศบัญญัติของเทศบาลเมืองตะกั่วป่าเรื่องสพานท่าเทียบเรือสาธารณะ ๒๔๙๓ ลงวันที่ ๙ ม.ค. ๒๔๙๔ ข้อ ๖,๓๑
จำเลยปฏิเสธต่อสู้หลายประการ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามข้อ ๖ แห่งเทศบัญญัติเรื่องสพานท่าเทียบเรือสาธารณะพ.ศ. ๒๔๙๓ ของเทศบาลเมืองตะกั่วป่า ปรับ ๔๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่า จำเลยสร้างสพานท่าเทียบเรือเป็นเหตุให้กีดขวางแก่การใช้ท่าเทียบเรือของเทศบาล แต่นายกเทศมนตรีฯพยานโจทก์ว่าท่าเทียบเรือนี้ไม่กีดขวางแก่ท่าเทีบบเรือของเทศบาล จึงฟังไม่ได้ว่าสพานท่าเทียบเรือรายนี้ไม่กีดขวางแก่การใช้ท่าเทียบเรือของเทศบาลดังฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลย
โจทก์ฎีกาว่า ตามฟ้องโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยฐานปลูกสร้างสพานท่าเทียบเรือขึ้นในเขตต์ท่าโดยมิได้รับอนุญาตซึ่งโจทก์ถือว่าการกระทำของจำเลยผิดตามมาตรา ๖ แห่ง เทศบัญญัติแล้ว แม้ทางพิจารณาจะไม่ได้ความว่าสพานท่าเทียบเรือพิพาทนี้กีดขวางแก่ท่าเทียบเรือของเทศบาลดังโจทก์ฟ้องก็ดี ศาลก็ลงโทษจำเลยได้
ศาลฎีกาเห็นว่า เทศบัญญัติที่โจทก์ฟ้องข้อ ๖บัญญัติว่า “ภายในเขตต์ท่าห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างหรือทำให้เกิดสิ่งกีดขวางขึ้นลงและไปมาอย่างใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว” คำว่า”เขตต์ท่า” ตามคำวิเคราะห์แห่งเทศบัญญัติหมายความถึงบริเวณที่เรืออาจเข้าจอดเทียบท่าได้ตามทางน้ำห่างจากท่าเทียบเรือ(ของเทศบาล) รัศมีโดยรอบ ๕๐๐เมตร ท่าเทียบเรือรายพิพาทจึงอยู่ภายในเขตต์ท่า” ตามความหมายของเทศบัญญัติ
คดีมีปัญหาควรพิจารณาก่อนว่าเทศบัญญัติตามที่โจทก์ฟ้องนี้จะมีผลบังคับถึงสพานท่าเทียบเรือพิพาทหรือไม่ เห็นว่าเทศบัญญัติดังกล่าวออกตามความในมาตรา ๕๔และ ๗๐ แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. ๒๔๘๖ มาตรา ๕๔ บัญญัติว่า “เทศบาลมีอำนาจตราเทศบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายในกรณีต่อไปนี้
๑. เพื่อปฎิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
๒. ในกรณีที่บทกฎหมายบัญญัติไว้ให้เทศบาลตราเทศบัญญัติหรือให้มีอำนาจตราเทศบัญญัติ ฯลฯ
มาตรา ๗๐ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายเทศบาลเมืองอาจจะทำกิจการใด ๆ ภายในเขตต์เทศบาลดังต่อไปนี้
๑. ให้มี ฯลฯ ท่าเทียบเรือ ฯลฯ
กฎหมายหาได้ให้อำนาจเทศบาลที่จะไปห้ามผู้ใดสร้างหรือใช้สพานท่าเทียบเรือในที่ของเอกชนคนใดซึ่งเขามีสิทธิอยู่เช่นในคดีนี้ไม่ เทศบาลจะมีอำนาจตราเทศบัญญัติเรื่องสพานท่าเทียบเรือหรือสาธารณะได้ก็แต่ภายในขอบเขตต์อำนาจของตนโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายเช่นวางระเบียบเกี่ยวกับเรือเข้าเทียบท่าหรือออกจากท่าของเทศบาล วางอัตราค่าธรรมเนียมเทศบาลจะออกเทศบัญญัติกำหนดให้เขตต์ท่าหมายถึงบริเวณที่เรืออาจเข้าจอดเทียบท่าได้ห่างจากท่าเทียบเรือของเทศบาลรัศมีโดยรอบ ๕๐๐เมตร อันเป็นการตัดสิทธิ์ของบุคคลโดยกฎหมายไม่ได้ ให้อำนาจไว้เช่นนี้เป็นการไม่ชอบ ดังนั้นการที่จำเลยสร้างและใช้ท่าเรือพิพาทจึงไม่เป็นผิดต่อเทศบัญญัติดังฟ้อง แม้ปัญหาข้อนี้จะไม่มีฝ่ายใดอ้างอิงขึ้นมาโดยตรงก็ดีศาลก็อาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่น ๆ ต่อไป พิพากษายืนที่ให้ยกฟ้องโจทก์