คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5369/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจาก บ. โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาไว้แก่โจทก์อีกว่า หากโจทก์ต้องชำระหนี้แก่ บ. แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะชำระหนี้แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ปรากฏว่าในวันที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาไว้แก่โจทก์นั้น มูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์อาจถูก บ. เรียกร้องให้ชำระหนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ บ. ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงเป็นผู้ที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามสัญญารับจะชำระหนี้ในเวลาภายหน้าได้ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาด โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91, 94 และ 101 แต่ บ. ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดแล้ว โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 101 วรรคหนึ่งตอนท้าย แต่การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่ บ. ภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมีผลให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของ บ. ไปใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 โจทก์จะนำหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมาฟ้องให้จำเลยดังกล่าวล้มละลายซ้ำอีกคดีหนึ่งหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตาย ขอให้มีคำสั่งให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
ระหว่างพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำฟ้อง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเรียกทายาทจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นผู้แทนจำเลยที่ 2 คำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง และคำสั่งรับคำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 แล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทำหนังสือค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนไว้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญารับจะชำระหนี้ที่เกิดจากการที่โจทก์ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ปรากฏว่าในวันที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญารับจะชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์นั้น มูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์อาจถูกเรียกร้องจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ชำระหนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงเป็นผู้ที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามสัญญารับจะชำระหนี้ในเวลาภายหน้าได้ เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91, 94 และ 101 แต่ปรากฏว่าบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 101 วรรคหนึ่งตอนท้าย แต่การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปย่อมมีผลให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้รายดังกล่าวไปใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 โจทก์จะนำหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมาฟ้องให้จำเลยดังกล่าวล้มละลายซ้ำอีกคดีหนึ่งหาได้ไม่ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นพับ.

Share