คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 84/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาข้อใดที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วจะฎีกาคัดค้านอีกไม่ได้
ปัญหาใดที่คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ จะฎีกาไม่ได้ต้องห้ามตาม ป.วิแพ่ง ม.249

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขออย่าขาดจากสามีภรรยากัน และให้จำเลยแบ่งสินสมรสหรือถ้าเห็นว่ายังไม่ควรหย่า ก็ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงดูให้โจทก์กับบุตรตลอดเวลา ๑๐ ปี
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสินเดิมและไม่มีสินสมรสตามที่โจทก์อ้างและตัดฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือหย่าและแบ่งทรัพย์กันแล้ว
ในวันพิจารณา โจทก์จำเลยรับกันว่า ได้ยอมหย่าขาดจากกันไปแล้ว ไม่ต้องพิจารณาในประเด็นข้อนี้ คงให้ศาลพิจารณาเพียงประเด็นข้อเดียวว่า โจทก์มีสินเดิมมาอยู่กินกับจำเลยหรือไม่ มีสินสมรสที่จะต้องแบ่งกันเท่าไรหรือไม่ และผู้ใดจะเป็นผู้เลี้ยงบุตร
ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์มีสินเดิม และทรัพย์เลข ๑-๒ ตามบัญชีหมาย ข. เท่านั้นเป็นสินสมรส จึงพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน และให้เอาทรัพย์สมรสออกขายทอดตลาด ให้โจทก์ ๑ ส่วน จำเลย ๒ ส่วนเรื่องบุตร์ไม่ต้องวินิจฉัย เพราะโจทก์ขอต่อเมื่อไม่เห็นควรให้หย่ากันเท่านั้น
จำเลยอุทธรณ์เถียงข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือหย่าและแบ่งทรัพย์กันเสร็จไปแล้ว
โจทก์อุทธรณ์ ว่าให้เอาทรัพย์ตามบัญชีหมาย ข.นอกจากเลข ๑-๒ มาแบ่งให้โจทก์ฐานเป็นทรัพย์สมรสด้วย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาในครั้งแรกว่า โจทก์จำเลยได้หย่ากันและแบ่งทรัพย์เสร็จเด็ดขาดไปแล้ว โจทก์จะมาฟ้องขอแบ่งอีกไม่ได้ จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องในข้อแบ่งทรัพย์
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้สละข้อต่อสู้ที่ว่า ได้แบ่งทรัพย์กันเสร็จไปแล้วตามหนังสือหย่าระหว่างโจทก์จำเลยตามที่ตกลงกันกับขอให้พิจารณาประเด็นข้อเดียวว่า โจทก์มีสินเดิมหรือมีสินสมรสที่จะต้องแบ่งเท่าไรหรือไม่ จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามข้อประเด็นแห่งคดี
ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาอีกครั้งหนึ่ง คงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คงแก้แต่ในเรื่องค่าธรรมเนียม ให้ศาลชั้นต้นให้ จำเลยเสียแทนโจทก์ ๒ ใน ๓
จำเลยฎีกาว่า ตามคำแถลงของจำเลยที่ศาลบันทึกไว้ในรายงานนั้น หาได้สละข้อต่อสู้เดิมที่ว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาแบ่งสมรสกันแล้วนั้นไม่ และคัดค้านว่าโจทก์ไม่มีสินเดิม
ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาจำเลยในข้อต้นเป็นการคัดค้านวินิจฉัยชี้ขาดของศาลฎีกาซึ่งได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วจะคัดค้านอีกไม่ได้ในข้อนี้ ส่วนข้อหลังเป็นเรื่องที่จำเลยมิได้ยกขึ้นโต้เถียงในชั้นอุทธรณ์ จะมาฎีกาไม่ได้ จึงพิพากษายืน

Share