คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5010/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ โจทก์อาจลงลายมือชื่อโดยกรรมการของโจทก์ตามที่ได้กำหนดในหนังสือรับรองของโจทก์หรือโจทก์อาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นลงลายมือชื่อทำสัญญาแทนได้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถกับโจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์สามารถนำสืบได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้ที่ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อนั้นทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทนโจทก์ ไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้อง
แม้เนื้อหาของหนังสือแจ้งให้สิทธิซื้อรถยนต์ไม่มีข้อความว่าเพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ แต่ก็ไม่พอที่จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 204,368 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 87,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 พฤษภาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,200 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เลขทะเบียน บจ 7612 หนองคาย จากโจทก์ ราคา 544,200 บาท ผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน 60 งวด เดือนละ 9,070 บาท ชำระงวดแรกวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อ 7 งวด แล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อวันที่ 13 มิถุนายน 2548 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืน โจทก์มีหนังสือแจ้งให้สิทธิซื้อรถยนต์ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2548 ตามหนังสือแจ้งให้สิทธิซื้อรถยนต์ (ตรงกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6) ไปยังจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้รับแล้ว ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2548 โจทก์ประมูลขายทอดตลาดได้เงิน 280,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อ 12,000 บาท และค่าราคารถยนต์ที่เช่าซื้อส่วนที่ขาดอยู่ 75,000 บาท รวม 87,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกมีว่า การที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ผู้ที่ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ช่องเจ้าของซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อได้รับมอบอำนาจให้ทำการแทนโจทก์ แต่โจทก์นำพยานเข้าสืบว่าผู้ที่ลงลายมือชื่อดังกล่าวได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ลงลายมือชื่อโดยชอบแล้ว เป็นการนำสืบนอกฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า การลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวโจทก์อาจลงลายมือชื่อโดยกรรมการของโจทก์ตามที่ได้กำหนดในหนังสือรับรองของโจทก์หรือโจทก์อาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นลงลายมือชื่อทำสัญญาแทนได้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์สามารถนำสืบได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้ที่ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์นั้นทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทนโจทก์ ไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้อง
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปว่า ตามหนังสือแจ้งให้สิทธิซื้อรถยนต์ ที่โจทก์แจ้งไปยังจำเลยทั้งสองก่อนนำรถยนต์ที่เช่าซื้อประมูลขายทอดตลาด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแล้ว มีข้อความที่ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 มีข้อความระบุไว้ในข้อ 3 (5) ว่า เมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ เพื่อนำออกขายให้แก่บุคคลอื่น ก. ก่อนขายให้แก่บุคคลอื่นผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ และตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 11 ตอนท้ายก็มีข้อความระบุว่า ในกรณีที่เจ้าของ (ผู้ให้เช่าซื้อ) บอกเลิกสัญญาและกลับเข้าครอบครองรถ เจ้าของจะแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อรถในราคาเท่ากับจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญานี้ โดยให้เวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่เนื้อหาตามหนังสือแจ้งให้สิทธิซื้อรถยนต์ ไม่มีข้อความว่าให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อดังข้อความตามประกาศและสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองถือได้ว่าจำเลยทั้งสองให้การถึงปัญหาตามฎีกาข้อนี้ด้วยแล้ว ตามหนังสือแจ้งให้สิทธิซื้อรถยนต์ ระบุที่หัวหนังสือชัดเจนว่า หนังสือแจ้งให้สิทธิซื้อรถยนต์ เนื้อหาของหนังสือระบุว่า บัดนี้ บริษัท (โจทก์) มีความประสงค์จะนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายแก่บุคคลอื่น และเพื่อเป็นการปฏิบัติตามข้อ 3 (5) ของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 โดยหนังสือฉบับนี้ บริษัทจึงขอแจ้งมายังผู้เช่าซื้อ หากบริษัทได้นำรถยนต์ออกขายทอดตลาดหรือขายโดยการประมูลแล้ว ได้ราคาน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อผู้เช่าซื้อและหรือผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิดชอบในส่วนหนี้ที่ยังขาดอยู่นั้น แต่หากได้ราคาเกินกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อ บริษัทจะคืนเงินส่วนเกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ ทั้งนี้ผู้เช่าซื้อจะต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการขายทอดตลาดหรือขายโดยการประมูลรถยนต์ฯ จึงเรียนมาเพื่อทราบ
แม้เนื้อหาของหนังสือไม่มีข้อความว่า เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ แต่ก็ไม่พอที่จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share