คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำเบิกความของพยานโจทก์ทุกปากไม่มีผู้ใดมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยจึงไม่มีข้อน่าระแวงสงสัยว่าจะเบิกความกลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลย น่าเชื่อว่าพยานทุกปากเบิกความไปตามความเป็นจริงส่วนที่จำเลยนำสืบว่าที่ให้การรับสารภาพเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายจนทนไม่ไหวนั้น คงมีตัวจำเลยและบิดาจำเลยเท่านั้นที่เบิกความ และทนายจำเลยก็มิได้ถามค้านในเรื่องที่จำเลยอ้างว่าถูกทำร้ายจนทนไม่ไหวจึงต้องให้การรับสารภาพไว้ในขณะที่เจ้าพนักงานสอบสวนมาเบิกความเมื่อพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบกับภาพถ่ายซึ่งจำเลยนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว เห็นได้ว่าจำเลยกระทำโดยสมัครใจและไม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายอยู่เลยคำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยจึงไม่มีข้อพิรุธหรือน่าสงสัยว่าจะมีการบังคับขู่เข็ญ หรือทำร้ายจนจำเลยทนไม่ได้ต้องให้การรับสารภาพ พยานจำเลยที่นำสืบจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเพื่อหักล้างพยานโจทก์ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงน่าเชื่อถือจึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2538 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกับพวกอีกหนึ่งคนที่หลบหนีได้ร่วมกันชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท จำนวน 1 เส้น ราคา4,700 บาท ของนางสาวศรีนยา (ที่ถูกคือศรินยา) ศิลปนันท์ผู้เสียหายโดยจำเลยกับพวกร่วมกันล็อกคอผู้เสียหายอันเป็นการประทุษร้าย และกระชากสร้อยคอทองคำดังกล่าวของผู้เสียหายแล้วขึ้นรถจักรยานยนต์ขับหลบหนีไป เหตุเกิดที่แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานครขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339, 340 ตรีให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท จำนวน 1 เส้นราคา 4,700 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี ลงโทษจำคุก 18 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุก 12 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำหนัก1 บาท จำนวน 1 เส้น ราคา 4,700 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องได้มีคนร้ายล็อกคอผู้เสียหายซึ่งกำลังเดินเข้าซอยไปยังหอพักแล้วกระตุกเอาสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท แล้ววิ่งไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่คนร้ายอีกคนหนึ่งจอดรออยู่หลบหนีไป ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะที่ผู้เสียหายเดินอยู่ในซอยบุญส่งโสพิศเพื่อกลับที่พักได้มีรถจักรยานยนต์คันที่แล่นสวนไปขับมาจอดห่างจากผู้เสียหายประมาณ 4 เมตร ชายที่นั่งซ้อนท้ายได้ลงมาจากรถจักรยานยนต์และเข้ามาสอบถามผู้เสียหายว่าในซอยนี้มีทางออกทางใดบ้างผู้เสียหายจำชายที่เข้ามาถามได้เป็นอย่างดีว่าเป็นจำเลยสาเหตุที่จำได้เนื่องจากพักอาศัยอยู่ในหอพักเดียวกันเมื่อผู้เสียหายตอบจำเลยไปว่าไม่ทราบแล้วก็เดินหันหลังให้จำเลยเพื่อเข้าที่พัก ได้มีคนเข้ามาด้านหลังและเข้ามาล็อกคอผู้เสียหายพร้อมกับกระตุกสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาทที่ผู้เสียหายสวมใส่ไปจากคอ แต่ได้ไปเพียงสร้อยคอทองคำเท่านั้นส่วนพระเลี่ยมทองที่แขวนไว้กับสร้อยคอทองคำผู้เสียหายคว้าไว้ได้ทัน ผู้เสียหายร้องเรียกให้คนช่วยพร้อมกับหันไปมองคนที่กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหาย เห็นเป็นจำเลยขณะกำลังวิ่งหนีไปที่รถจักรยานยนต์ เมื่อจำเลยขึ้นรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวแล้วคนขับได้ขับไปทางหน้าปากซอย ผู้เสียหายได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม ต่อมาอีกประมาณ 2 ถึง 3 วัน ขณะที่ผู้เสียหายเดินออกจากที่พักได้พบจำเลยที่ป้ายรถโดยสารประจำทางปากซอยบุญส่งโสพิศผู้เสียหายจึงไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่มและพาเจ้าพนักงานตำรวจมาจับจำเลยโดยผู้เสียหายเป็นผู้ชี้ตัวให้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลย และโจทก์ยังมีนางสาวอรอุมา ชูสิทธิ์ ซึ่งเป็นเพื่อนผู้เสียหายเบิกความสนับสนุนว่า ก่อนเกิดเหตุตอนเวลา 22 นาฬิกา พยานกำลังทำการบ้านอยู่กับเพื่อน 2 ถึง 3 คน โดยมีจำเลยอยู่ด้วย พยานได้รับโทรศัพท์จากผู้เสียหายแจ้งว่ากำลังเดินทางกลับที่พัก พยานตอบไปว่าจะคอยอยู่ หลังจากวางโทรศัพท์แล้วจำเลยได้เข้ามาสอบถามพยานจึงแจ้งว่าผู้เสียหายโทรศัพท์มาแจ้งว่าผู้เสียหายกำลังเดินทางมาที่หอพัก จำเลยจึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นคืนนี้จำเลยจะไม่พักที่นี่จะเดินทางออกไปข้างนอก ต่อมาเวลาประมาณ 23.30 นาฬิกาพยานได้ยินเสียงผู้เสียหายร้องขอความช่วยเหลือจากบริเวณหน้าหอพักพยานจึงออกไปพบผู้เสียหายและทราบว่าผู้เสียหายถูกกระชากสร้อยคอพยานสงสัยว่าคนร้ายจะเป็นจำเลย จึงเล่าเรื่องที่จำเลยสอบถามเกี่ยวกับโทรศัพท์ที่ผู้เสียหายโทรศัพท์มาบอกว่ากำลังกลับที่พัก ผู้เสียหายจึงแจ้งต่อพยานว่าผู้ที่กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายน่าจะเป็นจำเลย หลังจากนั้นพยานกับผู้เสียหายได้ไปแจ้งความ นอกจากพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวแล้วโจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกศิวนาท เสโส เบิกความว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 เวลาประมาณ .01 นาฬิกา พยานได้รับแจ้งทางวิทยุว่าผู้เสียหายพบจำเลยที่บริเวณซอยบุญส่งโสพิศพยานกับพวกจึงเดินทางไปพบผู้เสียหาย ผู้เสียหายแจ้งว่าพบจำเลยที่หน้าปากซอยบุญส่งโสพิศพยานกับผู้เสียหายจึงออกไปพบจำเลยและผู้เสียหายชี้ตัวให้จับจำเลย พยานจึงจับจำเลยเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวน ชั้นจับกุมแจ้งข้อหาจำเลยว่าร่วมกันชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 และโจทก์ยังมีร้อยตำรวจโทอภิวัฒน์ เชษฐาพนักงานสอบสวนเบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.8 พยานได้นำผู้เสียหายและจำเลยไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.9 และภาพถ่ายหมาย จ.10 เห็นว่าตามคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวทุกปากไม่มีผู้ใดมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยจึงไม่มีข้อน่าระแวงสงสัยว่าจะเบิกความกลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลย จึงน่าเชื่อว่าพยานทุกปากเบิกความไปตามความเป็นจริงว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องและให้การรับสารภาพไว้จริง ตามคำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยไม่มีข้อพิรุธหรือน่าสงสัยว่ามีการบังคับขู่เข็ญหรือทำร้ายจนจำเลยทนไม่ได้จึงต้องรับสารภาพ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมั่นคงน่าเชื่อถือ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามฟ้อง ส่วนพยานจำเลยซึ่งนำสืบว่าขณะเกิดเหตุจำเลยล้างรถอยู่ที่บ้านบิดาจำเลย และจำเลยให้การรับสารภาพเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายจนทนไม่ไหวจึงต้องรับสารภาพนั้นคงมีตัวจำเลยและบิดาจำเลยเท่านั้นที่เบิกความเป็นพยานจำเลยและทนายจำเลยก็มิได้ถามค้านในเรื่องที่อ้างว่าจำเลยถูกทำร้ายจนทนไม่ไหวจึงต้องให้การรับสารภาพไว้ในขณะที่ร้อยตำรวจเอกศิวนาทและร้อยตำรวจโทอภิวัฒน์ มาเบิกความเมื่อพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว ประกอบกับภาพถ่ายหมาย จ.10 ซึ่งจำเลยนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว เห็นได้ว่าจำเลยกระทำโดยสมัครใจและไม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายอยู่เลย พยานจำเลยที่นำสืบจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเพื่อหักล้างพยานโจทก์ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นสำหรับโทษที่จะลงแก่จำเลยนั้นปรากฏตามฟ้องโจทก์ว่าจำเลยมีอายุ 18 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำผิดมาก่อนจึงเห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 นอกจากนี้ยังปรากฏว่าคำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลอยู่มาก จึงเห็นสมควรลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ด้วย”
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม จำคุกจำเลย10 ปี ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามคงจำคุกจำเลย 6 ปี 8 เดือน

Share