แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทเป็นของมารดาโจทก์ แต่ใส่ชื่อ ก.พี่ชายโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ต่อมายกให้โจทก์โดยเสน่หาด้วยการจดทะเบียนโอนเป็นซื้อขายอำพรางนิติกรรมการให้เพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหนี้ของผู้โอน อันมิใช่เป็นการทำโดยมุ่งค้าหากำไร การที่โจทก์นำไปจำนองหรือได้เสนอขายหน่วยราชการต่าง ๆ ก่อนขายให้การเคหะแห่งชาติ ล้วนเป็นการกระทำภายหลังจากได้ที่พิพาทแล้วจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อได้มาโดยมุ่งค้าหากำไร เมื่อโจทก์ได้ที่พิพาทมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้จากการขายที่ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (9) ที่ใช้บังคับในขณะนั้น และการที่โจทก์ขายที่พิพาทให้การเคหะแห่งชาติเป็นการขายทั้งแปลงเพราะต้องการขายทั้งหมดก็มิใช่เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 วรรคแรก และบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 11
การนำสืบพยานบุคคลในเรื่องการจดทะเบียนซื้อที่พิพาทว่าเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทน และการจดทะเบียนซื้อขายเป็นการให้โดยเสน่หา ทั้งสองกรณีเป็นเรื่องที่นำสืบว่าสัญญาที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ ไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร จึงรับฟังได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง
อุทธรณ์จำเลยที่ว่า โจทก์ไม่ได้รับยกเว้นการเสียภาษีเงินได้เพราะโจทก์นำเงินได้จากการขายที่ดินไปหาส่วนเฉลี่ยแล้วนำไปขอยกเว้นเป็นรายบุคคล ซึ่งตามประมวลรัษฎากรจะต้องนำเงินได้ทั้งหมดไปขอยกเว้นโดยไม่แบ่งเฉลี่ย เป็นข้อที่จำเลยมิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว เพราะจำเลยให้การต่อสู้ในศาลชั้นต้นเพียงว่า เงินได้ของโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (9) ที่ใช้บังคับในขณะนั้น อันหมายถึงว่าไม่ได้รับยกเว้นเพราะโจทก์ได้ทรัพย์สินมาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงว่าโจทก์มิได้ยื่นขอยกเว้นโดยถูกต้อง จึงไม่ได้รับยกเว้นด้วย