แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า แต่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยอันเป็นธุรกิจทางการค้าตามปกติของโจทก์ ตรงกันข้ามโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาการใช้ไฟฟ้าเป็นเหตุให้เครื่องวัดกระแสไฟฟ้าที่โจทก์ติดตั้งไว้เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้จำเลยมีการสลับสายควบคุม ทำให้วัดกระแสไฟฟ้าน้อยลงกว่าปกติ รวมทั้งมีคำขอให้จำเลยชำระเบี้ยปรับตามข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวงว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ ฯ ข้อ 36 วรรคสอง แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยชำระค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปเป็นเงิน 501,240 บาท ก็หาใช่เป็นการเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยค้างชำระไม่ แต่เป็นการฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการที่จำเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โดยถือเอาค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปมาเป็นค่าสินไหมทดแทน จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ที่ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในอายุความ 2 ปี แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยื่นแบบขอใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์ โดยสัญญาว่าจำเลยจะชำระค่าธรรมเนียมในการใช้ไฟฟ้าให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์กำหนด โจทก์จึงติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าขนาด 30 (100) แอมป์ เครื่องวัดเลขที่ WP – 5141 และจ่ายไฟฟ้าให้จำเลยใช้ตลอดมา ต่อมาโจทก์พบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่จำเลยใช้วัดหน่วยการใช้ไฟฟ้าได้จำนวนน้อยกว่าความเป็นจริง โจทก์จึงนำเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ามาตรฐานขนาดเดียวกันกับเครื่องวัดเลขที่ WP – 5141 ติดตั้งเปรียบเทียบ โดยจ่ายไฟฟ้าให้จำเลยใช้ผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าทั้งสองเครื่อง ผลการเปรียบเทียบตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 3 กันยายน 2544 ปรากฏว่าเครื่องวัดเลขที่ WP – 5141 วัดหน่วยการใช้ไฟฟ้าได้ 137.8 หน่วย ส่วนเครื่องวัดมาตรฐานวัดหน่วยการใช้ไฟฟ้าได้ 445.5 หน่วย แสดงว่าเครื่องวัดเลขที่ WP – 5141 วัดหน่วยการใช้ไฟฟ้าคลาดเคลื่อนไป อันเป็นผลจากการกระทำโดยทุจริตของจำเลย เป็นเหตุให้เครื่องวัดแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าจำนวนที่ใช้จริง เป็นการผิดสัญญากับโจทก์ จำเลยซึ่งได้รับประโยชน์จากการกระทำดังกล่าวโดยชำระค่าไฟฟ้าน้อยกว่าจำนวนที่ใช้จริง ต้องชำระเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวงเป็นเงิน 10,000 บาท จากการตรวจสอบพบว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าลดลงผิดปกติตั้งแต่เดือนธันวาคม 2536 ถึงวันที่ติดตั้งเครื่องวัดเปรียบเทียบ คือ วันที่ 27 สิงหาคม 2544 ทำให้โจทก์ได้รับชำระค่าไฟฟ้าจากจำเลยน้อยกว่าจำนวนที่ใช้ไฟฟ้าจริง โจทก์ขอคิดหน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2536 ถึงเดือนสิงหาคม 2544 รวม 248,535 หน่วย เป็นเงิน 708,802 บาท เมื่อนำค่าไฟฟ้าที่จำเลยชำระในช่วงดังกล่าว 77,143 หน่วย มาหักออก คงเหลือค่าไฟฟ้าที่จำเลยต้องชำระเพิ่ม 171,392 หน่วย เป็นเงิน 501,240 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยปรับคิดเป็นเงิน 511,240 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 511,240 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 506,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 พฤศจิกายน 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าก็ตาม แต่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยอันเป็นธุรกิจทางการค้าตามปกติของโจทก์ ตรงกันข้ามตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาการใช้ไฟฟ้า เป็นเหตุให้เครื่องวัดกระแสไฟฟ้าหมายเลข WP – 5141 ที่โจทก์ติดตั้งไว้เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้จำเลยมีการสลับสายควบคุม ทำให้วัดกระแสไฟฟ้าน้อยลงกว่าปกติ รวมทั้งมีคำขอให้จำเลยชำระเบี้ยปรับตามข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวงว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ.2535 ข้อ 36 วรรคสอง แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยชำระค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปเพิ่มอีก 171,392 หน่วย เป็นเงิน 501,240 บาท ก็หาใช่เป็นการเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยค้างชำระไม่ แต่เป็นการฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการที่จำเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โดยถือเอาค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปมาเป็นค่าสินไหมทดแทน จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ที่ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในอายุความ 2 ปี ตามที่จำเลยฎีกา แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 506,240 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ