คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15786/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ออกมาใช้บังคับ และในมาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่ในมาตรา 158 ได้บัญญัติให้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ที่ใช้บังคับอยู่เดิมให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติฉบับหลังนี้ ดังนี้ ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักประกันเป็นทรัพย์สินที่บริษัทเงินทุนต้องเรียก (ฉบับที่ 5) และ (ฉบับที่ 6) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 30 (5) จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ ทั้งพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ยังบัญญัติให้การที่สถาบันการเงินฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวเป็นความผิด และกำหนดโทษสำหรับสถาบันการเงินรวมทั้งกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการสถาบันการเงินนั้น ตามมาตรา 46 (5) วรรคหนึ่ง, 125, 132 วรรคสอง แต่ปรากฏว่าโทษที่จะต้องลงแก่กรรมการตามที่บัญญัติในมาตรา 75 วรรคสอง สำหรับความผิดตามมาตรา 30 (5) แห่งพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 คือจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท แตกต่างกับโทษที่บัญญัติในมาตรา 132 วรรคสอง สำหรับความผิดเดียวกันตามมาตรา 46 (5) วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 125 แห่งพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาทและปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องโดยไม่มีโทษจำคุก โทษตามพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้โทษตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใด ตามป.อ. มาตรา 3 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 6, 6 ทวิ, 7, 30, 70, 75 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง (5) (ที่ถูก มาตรา 30 (5) วรรคหนึ่ง) ประกอบมาตรา 75 วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จากคำเบิกความของนายจักรกริศน์นิติกรสังกัดสายคดีธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งร่วมกับพวกปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินกิจการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแคปิตอล จำกัด ได้ความว่า กรรมการชุดใหม่นี้ ขณะได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย นายนิกร นายประทีป นายประพันธ์ และนางดาวรุ่ง ร่วมกันเป็นกรรมการบริษัทวัฏจักร จำกัด (มหาชน) นายนิกร นายประทีปและนายประพันธ์ร่วมกันเป็นกรรมการบริษัทมีเดียพลัส จำกัด (มหาชน) นายนิกรและนายประพันธ์ร่วมกันเป็นกรรมการบริษัทไทยสกายเคเบิลทีวี จำกัด (มหาชน) นายนิกร นายประทีป และนายประพันธ์ร่วมกันเป็นกรรมการบริษัทเอเชียวิชั่นส์ จำกัด กับนายนิกรและนายประพันธ์ร่วมกันเป็นกรรมการบริษัทไทยเพรส แอนด์ พริ้นท์ จำกัด นอกจากนี้ ขณะบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแคปิตอล จำกัด อนุมัติให้สินเชื่อแก่บริษัทวัฎจักร จำกัด (มหาชน) บริษัทมีเดียพลัส จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยสกายเคเบิลทีวี จำกัด (มหาชน) บริษัทเอเชียวิชั่นส์ จำกัด และบริษัทไทยเพรส แอนด์ พรินท์ จำกัด เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 วันที่ 12 ธันวาคม 2539 และวันที่ 15 มกราคม 2540 นายนิกร นายประทีปและนายประพันธ์ก็ยังคงเป็นกรรมการในบริษัทดังกล่าว คงมีนางดาวรุ่งเพียงผู้เดียวที่มิได้เป็นกรรมการบริษัทวัฎจักร จำกัด (มหาชน) โดยพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2539 และแม้จำเลยจะมิได้ร่วมเป็นกรรมการในบริษัททั้งห้าดังกล่าว แต่ปรากฏว่า นายชาญชัยสามีของจำเลยได้ร่วมเป็นกรรมการบริษัทวัฎจักร จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2539 ตลอดมาจนถึงวันที่ 8 มกราคม 2541 ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวนี้ชี้ชัดให้รับฟังได้เป็นมั่นคงว่า ผู้บริหารบริษัททั้งห้าล้วนเป็นกลุ่มบุคคลร่วมกันเป็นคณะในการดำเนินธุรกิจโดยมีนายนิกรและนายประพันธ์ร่วมเป็นกรรมการในทุกบริษัท นายประทีปเป็นกรรมการ 3 บริษัท อีกทั้งมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวนี้ได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทุนจากสถาบันการเงินไปใช้ในกิจการกลุ่มบริษัทของพวกตน ซึ่งจะเห็นได้จากการขออนุมัติสินเชื่อจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแคปิตอล จำกัด และใช้วิธีการให้ได้รับอนุมัติสินเชื่อโดยเข้าซื้อกิจการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแคปิตอล จำกัด แล้วประชุมลงมติให้กลุ่มของตนเป็นคณะกรรมการเพื่อมีอำนาจอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัททั้งห้าโดยเจตนาฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักประกันเป็นทรัพย์สินที่บริษัทเงินทุนต้องเรียก (ฉบับที่ 5) และ (ฉบับที่ 6) ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินธุรกรรมของสถาบันการเงินออกประกาศดังกล่าวเพื่อคุ้มครองประชาชนทั่วไปที่ฝากเงินไว้ต่อสถาบันการเงินมิให้ได้รับความเสียหายจากการบริหารของกรรมการในสถาบันการเงิน ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมาจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยในฐานะกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแคปิตอล จำกัด ได้ร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแคปิตอล จำกัด ฉะนั้น แม้จำเลยจะมิได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัททั้งห้าดังกล่าว จำเลยก็ต้องมีความผิดเช่นกัน พยานจำเลยซึ่งนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยมิได้ร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแคปิตอล จำกัด ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยควรได้รับการลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า การประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินเกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไปโดยตรงในด้านเศรษฐกิจและสังคมส่วนรวมอย่างยิ่งดังจะเห็นได้จากรัฐต้องออกกฎหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องมีหน้าที่กำกับดูแลเพื่อป้องกันมิให้สถาบันการเงินดำเนินธุรกรรมก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่จำเลยซึ่งมีประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพด้านธุรกิจการเงินมานาน และได้ลงนามรับทราบหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ งฟ. 3379/2539 ลงวันที่ 24 กันยายน 2539 เรื่อง หน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการสถาบันการเงินตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 แล้ว ยังคงร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแคปิตอล จำกัด และร่วมลงลายมือชื่อกับนายกี่เส็งในเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัทมีเดียพลัส จำกัด (มหาชน) บริษัทวัฎจักร จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทยสกายเคเบิลทีวี จำกัด (มหาชน) รวม 12 ฉบับ จำนวนเงินรวมกัน 169,020,000 บาท ตลอดทั้งร่วมลงลายมือชื่อกับนายกี่เส็งรับอาวัลตั๋วแลกเงินให้แก่บริษัทเอเชียวิชั่นส์ จำกัด รวม 5 ฉบับ จำนวนเงินรวมกัน 50,000,000 บาท ซึ่งเป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแคปิตอล จำกัดได้อนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทดังกล่าวโดยฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดหลักประกันเป็นทรัพย์สินที่บริษัทเงินทุนต้องเรียก (ฉบับที่ 5) และ (ฉบับที่ 6) ตามฟ้อง จึงบ่งชี้ให้เห็นได้ว่าจำเลยเจตนาฝ่าฝืนประกาศ ฯ ทั้งสองฉบับดังกล่าวโดยชัดแจ้ง โทษที่ศาลล่างทั้งสองลงแก่จำเลยมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ออกมาใช้บังคับ และในมาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว แต่ในมาตรา 158 ได้บัญญัติให้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ที่ใช้บังคับอยู่เดิมให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติฉบับหลังนี้ ดังนี้ ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักประกันเป็นทรัพย์สินที่บริษัทเงินทุนต้องเรียก (ฉบับที่ 5) และ (ฉบับที่ 6) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 30 (5) จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ ทั้งพระราช บัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ยังบัญญัติให้การที่สถาบันการเงินฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว เป็นความผิดและกำหนดโทษสำหรับสถาบันการเงินรวมทั้งกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินนั้น ตามมาตรา 46 (5) วรรคหนึ่ง, 125, 132 วรรคสองแต่ปรากฏว่าโทษที่จะต้องลงแก่กรรมการตามที่บัญญัติในมาตรา 75 วรรคสอง สำหรับความผิดตามมาตรา 30 (5) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 คือ จำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท แตกต่างกับโทษที่บัญญัติในมาตรา 132วรรคสอง สำหรับความผิดเดียวกันตามมาตรา 46 (5) วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยไม่มีโทษจำคุก โทษตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้โทษตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจำต้องกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยเสียใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาตรา 46 (5) วรรคหนึ่ง, 125, 132 วรรคสอง ให้เรียงกระทงลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับกระทงละ 500,000 บาท รวม 5 กระทง ปรับ 2,500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ห้ามกักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่าสองปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share