แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าอาวุธปืนลูกซองเดี่ยวเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนซึ่งใช้ในราชการของกระทรวงมหาดไทยอันเป็นหน่วยราชการและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนอาจออกใบอนุญาตให้ได้ เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้เป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน บทมาตราที่บัญญัติให้เป็นความผิดก็เป็นบทมาตราเดียวกัน วัตถุที่ต้องห้ามไม่ว่าจะเป็นอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน กฎหมายถือว่าเป็นวัตถุประเภทเดียวกัน การที่จำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนอาจออกใบอนุญาตให้ได้ในขณะเดียวกันจึงเป็นกรรมเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนอีกกรรมหนึ่งตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสอง ไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติที่แก้ไขเพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือนและปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง และวรรคสาม ฐานมีอาวุธปืนเป็นความผิดกรรมเดียว จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 เดือน รวมโทษปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 1,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 5 (1) (ก) ได้บัญญัติยกเว้นมิให้นำพระราชบัญญัติดังกล่าว เว้นแต่มาตรา 8 ทวิ ใช้บังคับแก่ อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ของหน่วยราชการ ฯลฯ ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าอาวุธปืนลูกซองเดี่ยวเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน ซึ่งใช้ในราชการของกระทรวงมหาดไทย อันเป็นหน่วยราชการแล้ว และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนอาจออกใบอนุญาตให้ได้นั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้เป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน บทมาตราที่บัญญัติให้เป็นความผิดก็เป็นบทมาตราเดียวกัน วัตถุที่ต้องห้ามนั้นไม่ว่าจะเป็นอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน กฎหมายถือว่าเป็นวัตถุประเภทเดียวกัน ฉะนั้น การที่จำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนอาจออกใบอนุญาตให้ได้ในขณะเดียวกันจึงเป็นกรรมเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืน อีกกรรมหนึ่งตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสอง นั้น จึงไม่ถูกต้องเช่นกัน ปัญหาทั้งสองเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติที่แก้ไขเพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่งและวรรคสาม การกระทำเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน