คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4106/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประเด็นในคดีซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วและในชั้นศาลอุทธรณ์จำเลยก็ได้หยิบยกขึ้นโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์อันเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวนก็ชอบจะทำได้ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวน
ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 วรรคท้ายในกรณีที่มีการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ถูกต้อง ผู้ได้รับหนังสือหรือคู่กรณีมีอำนาจดำเนินการฟ้องร้องยังศาลให้เพิกถอนได้ ไม่จำเป็นจะต้องให้อธิบดีกรมที่ดินเป็นผู้เพิกถอนทุกกรณี และเมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างไรแล้วจึงให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 นำรังวัดและจำเลยที่ 2 ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดพิพาทไม่ถูกต้องตามคำพิพากษา ขอให้เพิกถอนโฉนดดังกล่าว

จำเลยที่ 1 ให้การว่าได้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามคำพิพากษาและแบ่งแยกที่ดินถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของกรมที่ดินแล้วโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่าออกโฉนดที่ดินไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกจดทะเบียนสิทธิในที่ดิน ให้จำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดเพชรบุรีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 209/2523 การสร้างโฉนดที่ดินเลขที่ 21066 และการจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 19389 ให้จำเลยที่ 1 ของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติถูกต้องแล้วแต่จำนวนเนื้อที่ดินในโฉนดฉบับหลังไม่ถูกต้องการเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดิน โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 19389ตำบลเวียงคอย อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกจดทะเบียนสิทธิในที่ดินให้จำเลยที่ 1 ถูกต้องตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 209/2523 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ นั้น เห็นว่าเป็นประเด็นในคดีซึ่งว่ากล่าวกันมาแล้วทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วและในชั้นศาลอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ก็ได้หยิบยกขึ้นโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์อันเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ไว้ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียเลย สำหรับประเด็นข้อนี้ ปรากฏว่าทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างอ้างสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 209/2523 เป็นพยานร่วมกัน จึงฟังได้จากคำพิพากษาคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามรูปแผนที่สังเขปในแผนที่พิพาทที่ครอบครองอยู่เฉพาะเนื้อที่ที่แน่นอนตายตัวคือ 1 งาน 36 ตารางวาเท่านั้น และได้ความจากที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบรับกันไว้ในคดีนั้นด้วยว่าที่ดินที่จำเลยที่ 1 ครอบครองมานั้น ถูกเวนคืนเป็นเขตถนนเพชรเกษมไปบางส่วนทางด้านเหนือและปรากฏรายละเอียดตามแผนที่พิพาทรับกันไว้อีกว่าถูกเวนคืนไปกว้าง 10 เมตรยาวตลาดที่ดิน ซึ่งความยาวเฉพาะที่เป็นของจำเลยที่ 1 คือด้านเหนือ 21.60 เมตรโดยที่จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบในคดีนี้หักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงคำนวณเป็นเนื้อที่ได้54 ตารางวา ใกล้เคียงกับก็โจทก์นำสืบในคดีนี้ไว้ว่าประมาณ 53-54 ตารางวาเมื่อนำมารวมกับเนื้อที่ดินที่โจทก์นำรังวัดแบ่งแยกตามคำพิพากษาเป็นโฉนดเลขที่ 19389 จำนวน 91 ตารางวา จึงเป็นเนื้อที่ที่จำเลยที่ 1 ครอบครองมาทั้งหมดประมาณ 145 ตารางวา เกินกว่าที่ศาลพิพากษาไปประมาณ 9 ตารางวา แสดงว่าการรังวัดแบ่งแยกโฉนดเลขที่ 19389 ผิดพลาดไปจากคำพิพากษาเพราะส่วนทีถูกเวนคืนจะต้องเป็นเนื้อที่ดินที่คงที่แน่นอนโจทก์จะต้องนำรังวัดต่อจากส่วนนั้นออกมารวมแล้วไม่เกิน 136 ตารางวาตามคำพิพากษาเท่านั้น ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงดำเนินการรังวัดแบ่งแยกจดทะเบียนสิทธิในที่ดินในจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 209/2523 ของศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่ฎีกาว่าในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการออกโฉนดหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ตั้งประเด็นขึ้นใหม่ว่า “ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด”เห็นว่าไม่เป็นการตั้งประเด็นขึ้นใหม่ แต่เป็นการชี้แนะให้เห็นว่า ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรคท้าย ในกรณีที่มีการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ถูกต้อง ผู้ได้รับหนังสือหรือคู่กรณีมีอำนาจดำเนินการฟ้องร้องยังศาลให้เพิกถอนได้ไม่จำเป็นจะต้องให้อธิบดีกรมที่ดินเป็นผู้เพิกถอนทุกกรณี และเมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างไรแล้ว จึงให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ตามวิธีการที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด อนึ่ง แม้คดีนี้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุว่า ขอศาลบังคับจำเลยให้เพิกถอนการออกโฉนดใหม่ก็ตามแต่เจตนาอันแท้จริงของโจทก์ก็คือขอให้ศาลเพิ่มถอนการออกโฉนดใหม่นั้นเสียนั่นเองเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่าการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 19389 ได้กระทำโดยไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 209/2523 ของศาลชั้นต้น จึงมีเหตุให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิกถอนโฉนดไปเสียเลยเลขนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share