แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
วันที่ 8 มีนาคมเป็นวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน โดยมีหมายเหตุท้ายคำร้องว่า “ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอถือว่าทราบแล้ว” พร้อมทั้งลงลายมือชื่อทนายจำเลยผู้ร้องไว้ และยังมีข้อความอีกว่า “ข้าพเจ้าจะมาฟังคำสั่งภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ หากไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว”พร้อมทั้งลงลายมือชื่อทนายจำเลยผู้ร้องไว้เช่นกัน ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้มีคำสั่งในวันเดียวกันนั้น หากแต่ได้มีคำสั่งในวันที่ 13 มีนาคมก็ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องทราบคำสั่งศาลแล้ว ข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าผู้ร้องไม่อาจทราบได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลาการอุทธรณ์ว่าอย่างไร เพราะสำนวนความเสนอศาลอยู่และยังคัดถ่ายสำเนาคำสั่งศาลไม่ได้ก็มิใช่กรณีมีเหตุสุดวิสัย เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการอุทธรณ์ถึงวันที่ 22 มีนาคม การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องในวันที่ 23 มีนาคม จึงเกินกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายไว้ โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยอย่างหนึ่งอย่างใด ฉะนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาการอุทธรณ์และไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน121,053.39 บาท โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 98158พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง เลขที่ 76/31 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้อง (จำเลย) ยื่นคำร้องคัดค้านการยึดทรัพย์สินดังกล่าว ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543ว่า โจทก์นำยึดที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวซึ่งมีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับบุคคลอื่น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอื่นที่เป็นของจำเลยอย่างแน่ชัด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการยึดทรัพย์เกินกว่าพอที่จะชำระหนี้การยึดทรัพย์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ยกคำร้องวันที่ 8 มีนาคม 2543ซึ่งเป็นวันครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลอนุญาตให้ขยายถึงวันที่ 22 มีนาคม 2543 ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2543 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยไม่ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายในกำหนดจึงยกคำร้อง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกในวันที่ 5 และ 24 เมษายน 2543ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องผู้ร้อง (จำเลย) อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องคัดค้านการยึดทรัพย์เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2543 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้อง(จำเลย) ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลาที่ขอขยายไว้จึงไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า วันที่ 8 มีนาคม 2543 เป็นวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน โดยมีหมายเหตุท้ายคำร้องว่า “ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ถ้าไม่รอถือว่าทราบแล้ว” พร้อมทั้งลงลายมือชื่อทนายจำเลยผู้ร้องไว้ และยังมีข้อความอีกว่า “ข้าพเจ้าจะมาฟังคำสั่งภายใน 7 วันนับแต่วันนี้หากไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” พร้อมทั้งลงลายมือชื่อทนายจำเลยผู้ร้องไว้เช่นกัน ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้มีคำสั่งในวันเดียวกันนั้น หากแต่ได้มีคำสั่งในวันที่ 13 มีนาคม 2543 ก็ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องทราบคำสั่งศาลแล้ว ข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าผู้ร้องไม่อาจทราบได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลาการอุทธรณ์ว่าอย่างไรเพราะสำนวนความเสนอศาลอยู่และยังคัดถ่ายสำเนาคำสั่งศาลไม่ได้ ก็มิใช่กรณีมีเหตุสุดวิสัยเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการอุทธรณ์ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2543 การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องในวันที่ 23 มีนาคม2543 จึงเกินกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายไว้โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยอย่างหนึ่งอย่างใด ฉะนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาการอุทธรณ์และไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน