แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงตามฟ้องคดีก่อนอาคารของจำเลยมีขนาดกว้าง 3.50 เมตร ยาว 25 เมตร เป็นเพิงทำด้วยไม้ ส่วนคดีนี้อาคารของจำเลยมีขนาดกว้าง 4.30 เมตร ยาว 21.50 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตก่ออิฐถือปูน เห็นได้ชัดว่าเป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ภายหลังเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิ การที่จำเลยก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่แทนอาคารหลังเดิมและเข้ายึดถือครอบครองใหม่โดยเข้าไปก่อสร้างอาคารคอนกรีตในที่เกิดเหตุ จึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นใหม่หาใช่เจตนาสืบเนื่องต่อกันมาไม่ และไม่ถือว่ามีเหตุชั่วคราวมาขัดขวางมิให้จำเลยยึดถือที่ดินที่เกิดเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคสอง การกระทำของจำเลยตามฟ้องคดีนี้จึงเป็นคนละคราวกับคดีก่อน ดังนั้น ถึงแม้ในคดีก่อนศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย ก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเฉพาะความผิดกรรมดังกล่าวเท่านั้น หาได้มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับความผิดกรรมอื่น ๆ ระงับไปด้วยไม่ จะถือว่าเป็นเรื่องที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดฐานบุกรุกเข้ายึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถางและทำให้เสียหายแก่ที่ดินซึ่งเป็นป่าและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันมิได้ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 360, 362, 365 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 21, 40, 42, 43, 65, 66 ทวิ, 67 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรี, 74 ทวิ กับให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้างผู้แทน และบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินที่บุกรุก
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานครอบครองป่าเพื่อตนเอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42, 66 ทวิ ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่ง ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 คงมีปัญหาในชั้นนี้เฉพาะความผิดฐานบุกรุกเข้ายึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง และทำให้เสียหายแก่ที่ดินซึ่งเป็นป่าและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันตามฟ้อง ข้อ 1.1 ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ แปลงที่ระบุชื่อจำเลย ในปี 2547 เกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มอาคารหลังเก่าที่จำเลยปลูกสร้างบนที่ดินที่เกิดเหตุพังเสียหาย จำเลยจึงก่อสร้างอาคารกว้าง 4.30 เมตร ยาว 21.50 เมตร ขึ้นใหม่ ในเนื้อที่ 23.11 ตารางวา บนที่ดินที่เกิดเหตุแทนอาคารหลังเดิมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ก่อนคดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุต่อศาลชั้นต้นมาแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าหลังจากเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในบริเวณที่เกิดเหตุจนเป็นเหตุให้อาคารหลังเดิมพังเสียหายไปแล้ว จำเลยเข้าทำการก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ถือได้ว่าการครอบครองในครั้งแรกขาดตอนไปแล้ว เมื่อจำเลยทำการก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ จึงเป็นการบุกรุกใหม่นั้น เห็นว่า เมื่อปลายปี 2547 ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่จังหวัดภูเก็ต เป็นเหตุให้ที่เกิดเหตุตลอดจนอาคารหลังเดิมที่จำเลยครอบครองได้รับความเสียหายไป ต่อมาจำเลยได้เข้ามาทำการก่อสร้างอาคารขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เมื่อพิจารณาภาพถ่ายอาคารเมื่อปี 2521 เปรียบเทียบกับภาพถ่ายเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นเวลาก่อนและหลังเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิ พบว่าโครงสร้างอาคารเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง โดยข้อเท็จจริงตามฟ้องคดีก่อนอาคารของจำเลยมีขนาดกว้าง 3.50 เมตร ยาว 25 เมตร เป็นเพิงทำด้วยไม้ ส่วนคดีนี้อาคารของจำเลยมีขนาดกว้าง 4.30 เมตร ยาว 21.50 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตก่ออิฐถือปูน เห็นได้ชัดว่าเป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ภายหลังเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิ การที่จำเลยก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่แทนอาคารหลังเดิมและเข้ายึดถือครอบครองใหม่โดยเข้าไปก่อสร้างอาคารคอนกรีตในที่เกิดเหตุจึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นใหม่หาใช่เจตนาสืบเนื่องต่อกันมาไม่ และไม่ถือว่ามีเหตุชั่วคราวมาขัดขวางมิให้จำเลยยึดถือที่ดินที่เกิดเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 วรรคสอง การกระทำของจำเลยตามฟ้องคดีนี้จึงเป็นคนละคราวกับคดีก่อน ดังนั้น ถึงแม้ในคดีก่อนศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย ก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเฉพาะความผิดกรรมดังกล่าวเท่านั้น หาได้มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับความผิดกรรมอื่น ๆ ระงับไปด้วยไม่ จะถือว่าเป็นเรื่องที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดฐานบุกรุกเข้ายึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถางและทำให้เสียหายแก่ที่ดินซึ่งเป็นป่าและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันตามฟ้องข้อ 1.1 แล้วมิได้ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 หรือไม่ โจทก์มีนายฤทธิ์ธา พนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลสาคู และนายภานุเมธ หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า ภก.1 (ถลาง) เบิกความว่าได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เข้าตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่บริเวณหาดในยาง ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต พบอาคารของจำเลยตั้งอยู่ในที่เกิดเหตุ และได้ตรวจสอบค่าพิกัดทางดาวเทียมจีพีเอสเพื่อค้นหาตำแหน่งของอาคาร และมีนายราชย์ นายช่างรังวัดชำนาญงาน เป็นพยานเบิกความว่า พยานทำการรังวัดที่เกิดเหตุโดยยึดโยงกับค่าพิกัดของที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งเลี้ยงสัตว์ แหลมพิศ-ปากบาง และค่าพิกัดของที่ดินข้างเคียงซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนด ผลการรังวัดปรากฏว่าที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ในเขตทุ่งเลี้ยงสัตว์ แหลมพิศ-ปากบาง เห็นว่า พยานโจทก์เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งให้ร้ายแก่จำเลย คำเบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันและตรงกับพยานหลักฐานอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายราชย์เป็นนายช่างรังวัดชำนาญงาน ย่อมมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการรังวัดที่ดินเป็นอย่างดีตามหลักวิชาการ จึงเชื่อว่าแผนที่พิพาทที่นายราชย์จัดทำขึ้นมานั้นถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ที่จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินที่เกิดเหตุเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค. 1 เลขที่ 150 ซึ่งจำเลยได้รับอนุญาตให้ครอบครองจากนายทวี บุตรของนายขจร ผู้มีสิทธิครอบครองนั้น ได้ความจากหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบที่ดิน ส.ค. 1 เลขที่ 150 ของสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สาขาถลาง ว่า บุตรของนายขจรได้ขายที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 8 ไร่ 60 ตารางวาให้แก่นางสุวรรณ ซึ่งต่อมานางสุวรรณได้นำ ส.ค. 1 ดังกล่าวมาออกโฉนดที่ดินเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 4061 ปัจจุบันโฉนดที่ดินดังกล่าวมีชื่อบริษัทเพิร์ล จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่มีที่ดินส่วนที่เหลือจาก ส.ค. 1 ดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อพิจารณา ส.ค. 1 เลขที่ 150 แล้วพบว่า ที่ดินมีอาณาเขตทิศเหนือจดป่าสนริมทะเลซึ่งต่อมามีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ตรงกับแผนที่พิพาทที่ระบุตำแหน่งที่ดินโฉนดเลขที่ 4061 มีอาณาเขตด้านทิศเหนือจดทุ่งเลี้ยงสัตว์ แหลมพิศ-ปากบาง ดังนั้น เมื่อที่ดินที่เกิดเหตุที่จำเลยครอบครองอยู่ทางทิศเหนือของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 4061 จึงมิใช่ส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค. 1 เลขที่ 150 ตามที่จำเลยกล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่เป็นที่ดินที่อยู่ในเขตทุ่งเลี้ยงสัตว์ แหลมพิศ-ปากบาง พฤติการณ์ที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุโดยไม่มีเอกสารสิทธิหรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงได้ว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้มีสิทธิครอบครองทำกินในที่ดินที่เกิดเหตุ เชื่อว่าจำเลยครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุโดยรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งเลี้ยงสัตว์ แหลมพิศ-ปากบาง เมื่อที่ดินที่เกิดเหตุยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายจึงเป็นป่า ตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 การที่จำเลยครอบครองป่าเพื่อตนเองจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นคนดีสักครั้งหนึ่งโดยรอการลงโทษจำคุกให้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง จำคุก 3 เดือน และปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8