แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายเงิน จำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์ จำเลยจะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่า ขณะที่จำเลยออกเช็คนั้นยังไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระจึงมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องนั้นหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 อีกด้วย ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์2537 เวลากลางวัน จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สั่งจ่ายเงินจำนวน 900,000 บาท ชำระหนี้เงินกู้ซึ่งจำเลยกู้ยืมไปจากนางสุนีย์ อาติเกิด ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย หลังจากที่เช็คฉบับดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงินแล้ว ผู้เสียหายนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายเงิน ให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ทั้งนี้จำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 164/2538, 244/2538 และคดีหมายเลขแดงที่ 503/2538 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และนับโทษต่อจากคดีดังกล่าวด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพภายหลังโจทก์นำสืบพยาน 1 ปาก ต่อมาขอเปลี่ยนจากรับสารภาพเป็นปฎิเสธตลอดข้อหา ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและจำเลยรับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีหมายเลขดำที่164/2538, 244/2538 และหมายเลขแดงที่ 503/2538 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 5 ซึ่งได้รับมอบหมายอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ให้จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่503/2538 ของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ 2537 เวลากลางวัน จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขาลำปาง ลงวันที่ 15 มีนาคม 2537 สั่งจ่ายเงินจำนวน900,000 บาท มอบให้แก่นางสุนีย์ อาติเกิด ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2537 ผู้เสียหายนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ทั้งนี้จำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ออกเช็คให้ใช้เงินที่มีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้และในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์ จำเลยจะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่าขณะที่จำเลยออกเช็คนั้นยังไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระจึงมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องนั้นหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยขอในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 อีกด้วย ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย