คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7400/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่อครบ 55 ปี เมื่อโจทก์อายุครบ 55 ปี จำเลยให้โจทก์ทำงานต่อไป เมื่อโจทก์อายุ 55 ปีเศษ โจทก์ไปพูดกับผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าน่าจะให้โจทก์เกษียณอายุการทำงานได้แล้ว และโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อความระบุว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายค่าชดเชยเป็นการเลิกจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมายกล่าวคือ เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมและเป็นการกระทำที่เป็นธรรมแก่โจทก์แล้วโจทก์สัญญาว่าจะไม่ติดใจเรียกร้อง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือเงินใด ๆ จากจำเลยอีก จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร้องขอให้จำเลยเลิกจ้างและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้พนักงานชายเกษียณอายุการทำงานเมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์ ส่วนพนักงานหญิงเกษียณอายุการทำงานเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเป็นการกำหนดการเกษียณอายุที่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 15 เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 เนื่องจากการทำงานของพนักงานชายและพนักงานหญิงไม่มีลักษณะหรือสภาพของงานที่แตกต่างกัน ปี 2545 โจทก์มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จำเลยคงให้โจทก์ทำงานเรื่อยมา วันที่ 6 มกราคม 2548 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าโจทก์เกษียณอายุการทำงานโดยมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่มีเหตุที่จะให้เลิกจ้างได้ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยที่ยังขาดอยู่ 7,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 269,424 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จำเลยแจ้งโจทก์ว่า ตามระเบียบของจำเลยโจทก์จะต้องถูกเลิกจ้างด้วยเหตุเกษียณอายุการทำงาน แต่โจทก์ยืนยันว่ายังมีความสามารถและร่างกายแข็งแรงพร้อมที่จะทำงานให้จำเลย ขอทำงานต่อไปอีก 2 ปี ซึ่งจำเลยอนุญาต ครั้นครบกำหนดตามที่ตกลงกันโจทก์แจ้งให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุเพื่อที่โจทก์จะได้นำค่าชดเชยที่ได้จากการเลิกจ้างตามข้อบังคับของจำเลยไปใช้จ่าย จำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์เป็นพนักงานหญิง ทำงานใช้แรงงานในบริเวณหน้างานที่มีการก่อสร้างต้องตรากตรำอยู่กลางแดด และโจทก์มีอายุมาก สุขภาพไม่แข็งแรง สมควรให้เลิกจ้างโจทก์ตามที่โจทก์ขอโดยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นเงิน 77,700 บาท ทั้งโจทก์ยังได้ทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความไว้กับจำเลยว่า เป็นการเลิกจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมายคือไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และไม่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายหรือเงินทดแทนใด ๆ จากจำเลยอีกจำเลยไม่ได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2518 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นช่างสีประจำอยู่ที่หน่วยงานเจ 343 ท้ายบ้าน จังหวัดสมุทรปราการซึ่งเป็นโรงงานประกอบโครงสร้างเหล็กที่จังหวัดสมุทรปราการอันเป็นหน่ายงานหนึ่งของจำเลยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 259 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 750 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างร้อยละ 70 ของค่าจ้างทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งค่าครองชีพในวันที่ 5 ของทุกเดือน ส่วนร้อยละ 30 จะจ่ายในวันที่ 20 ของทุกเดือน วันเวลาทำงานตามปกติของโจทก์เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา 8 นาฬิกา จนถึง 17 นาฬิกา ระหว่างที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของพนักงานที่ประจำอยู่ที่หน่วยงานท้ายบ้าน จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาในวันที่ 17 ธันวาคม 2547 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยถือว่าโจทก์เกษียณอายุการทำงานที่อายุ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งโจทก์ได้ลงลายมือชื่อรับทราบการเกษียณอายุและได้รับค่าชดเชยจากจำเลยเป็นเงิน 77,700 บาท กับได้รับเงินจำนวน 7,500 บาท ที่ฟ้องในคดีนี้แล้ว รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จล. 1 ถึง จล. 9
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จล. 4 มีกระบวนการจัดทำไม่ขัดต่อกฎหมาย มีผลบังคับใช้ได้ ข้อตกลงในส่วนที่พนักงานหญิงเกษียณอายุการทำงานเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายขณะที่โจทก์มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จำเลยมีสิทธิให้โจทก์ออกจากงานได้ตามเอกสารหมาย จล. 4 อยู่แล้ว โดยไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การที่จำเลยให้โจทก์ทำงานต่อไปเป็นคุณแก่โจทก์อย่างยิ่งแล้ว จำเลยสามารถอ้างข้อตกลงการเกษียณอายุการทำงานเมื่ออายุโจทก์ครบ 55 ปีบริบูรณ์ มาใช้บังคับแก่โจทก์ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันปรากฏว่า เมื่อโจทก์มีอายุ 55 ปีเศษ โจทก์ไปพูดกับนายจรงค์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าน่าจะให้โจทก์เกษียณอายุการทำงานได้แล้ว (เลิกจ้างด้วยเหตุเกษียณอายุ) และโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล. 1 มีข้อความระบุว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายค่าชดเชยเป็นการเลิกจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมายกล่าวคือ เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมและเป็นการกระทำที่เป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว โจทก์สัญญาว่าจะไม่ติดใจเรียกร้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือเงินใด ๆ จากจำเลยอีก จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร้องขอให้จำเลยเลิกจ้างและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืนน

Share