แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา โดย พ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 1 ส่วน ข. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ท. และตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พ. และ ข. ผู้ตายทั้งสองได้ร่วมทำร้ายหรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาที่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกทำร้ายจำเลย แม้ผู้ตายทั้งสองจะอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเกิดความฮึกเหิมรุมทำร้ายจำเลยกับพวก หลังเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองไปกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกก็คงเป็นเพราะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน พฤติการณ์ของผู้ตายทั้งสองฟังไม่ได้ว่า ผู้ตายทั้งสองข่มเหงหรือร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยขับรถกระบะซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแรงประทะมากกว่ารถจักรยานยนต์หลายเท่าฝ่าเข้าไปหรือพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกโดยแรง แม้กระทำเพียงครั้งเดียวก็เห็นได้ว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า ทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกชนจะถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเจตนาที่จะกระทำต่อกลุ่มคนที่รุมทำร้ายจำเลย แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ผู้ตายทั้งสองโดยพลาดไป เมื่อผู้ตายทั้งสองมิได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยพลาด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 288, 358 ริบรถกระบะและรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การว่า กระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ
ระหว่างพิจารณานางเฉลย มารดาของนางสาวพรวิมล ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่น ส่วนข้อหาอื่นโจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายจึงไม่อนุญาต กับยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล 7,000 บาท ค่าปลงศพ 104,500 บาท ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูผู้ตาย 1,000,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,111,500 บาท
นางสาวบุญมา มารดาของนางสาวขวัญใจ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าปลงศพ 54,400 บาท ค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายที่ไม่อาจคำนวณเป็นตัวเงิน 506,688 บาท รวมเป็นเงิน 561,088 บาท
จำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 72, 358 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 ปี คำให้การจำเลยและทางนำสืบของจำเลยนับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี ริบรถกระบะของกลาง กับให้จำเลยชำระเงิน 550,000 บาท แก่ผู้ร้อง และชำระเงิน 790,000 บาท แก่โจทก์ร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายสุหรรษา ผู้เสียหายที่ 1 นายภาณุพงศ์และนายบัณฑิตกับพวกประมาณ 10 คน ขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นเป็นกลุ่มแล้วมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับจำเลยและพวกรวม 3 คน โดยผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเป็นฝ่ายลงมือทำร้ายก่อน จากนั้นผู้เสียหายที่ 1 กับพวกกลับไปขึ้นรถจักรยานยนต์แล้วพากันขับหนีไป โดยมีนางสาวพรวิมลนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 และนางสาวขวัญใจ นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายทอม หลังจากนั้นจำเลยขับรถกระบะติดตามกลุ่มผู้เสียหายที่ 1 จนทันแล้วพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ดังกล่าวอย่างแรง เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่นายทอมขับถูกชนล้มลง และรถจักรยานยนต์อีก 3 คัน ได้รับความเสียหาย ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย นางสาวขวัญใจ ถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ ส่วนนางสาวพรพิมล ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา
คดีนี้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 โดยบันดาลโทสะและฐานทำให้เสียทรัพย์ ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยฆ่าผู้ตายทั้งสองด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยพลาดหรือไม่ เห็นว่า การกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 เป็นกรณีที่ผู้กระทำถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ส่วนการกระทำโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60 เป็นกรณีที่ผู้กระทำเจตนากระทำต่อบุคคลคนหนึ่งแต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป สำหรับการกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ผู้กระทำต้องเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นแล้วว่า จะทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับผลนั้น ซึ่งเป็นผลที่เห็นได้ชัดว่า จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา โดยนางสาวพรวิมลนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 1 ส่วนนางสาวขวัญใจ นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์นายทอม และตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายทั้งสองได้ร่วมทำร้ายหรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาที่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกทำร้ายจำเลย แม้ผู้ตายทั้งสองจะอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเกิดความฮึกเหิมรุมทำร้ายจำเลยกับพวก หลังเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองไปกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกก็คงเป็นเพราะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน พฤติการณ์ของผู้ตายทั้งสองฟังไม่ได้ว่า ผู้ตายทั้งสองข่มเหงหรือร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยขับรถกระบะซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแรงประทะมากกว่ารถจักรยานยนต์หลายเท่าฝ่าเข้าไปหรือพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกโดยแรง แม้กระทำเพียงครั้งเดียวก็เห็นได้ว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า ทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกชนจะถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเจตนาที่จะกระทำต่อกลุ่มคนที่รุมทำร้ายจำเลย แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ผู้ตายทั้งสองโดยพลาดไป เมื่อผู้ตายทั้งสองมิได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำความผิดต่อผู้ตายทั้งสองจึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยพลาดดังที่จำเลยฎีกา ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วางโทษจำคุก 15 ปี ก่อนลดโทษเป็นการกำหนดโทษขั้นต่ำสุดในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 แล้ว ไม่อาจวางโทษจำเลยให้ต่ำกว่านั้นได้ เมื่อลดโทษก็ลดให้หนึ่งในสามซึ่งก็เหมาะสมกับสภาพความผิดของจำเลยแล้ว ไม่มีเหตุแก้ไขเปลี่ยนแปลงและเมื่อลงโทษจำคุกจำเลยเกินกว่าห้าปีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน