คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8516/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 45 บัญญัติว่า “คดีเรื่องใดถึงแม้ว่าได้ฟ้องในทางอาญาแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องในทางแพ่งอีก” แม้มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” อย่างไรก็ดี หากผลคดีอาญายังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นประการใด ศาลในคดีส่วนแพ่งย่อมมีดุลพินิจดำเนินการะบวนพิจารณาและพิพากษาไปได้ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนโดยไม่ต้องรอคำพิพากษาคดีส่วนอาญา การใช้ดุลพินิจดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนคดีแพ่งที่ น. ฟ้องผู้กระทำละเมิดและนายจ้างเรียกค่าสินไหมทดแทนนั้น ผลแห่งคดีจะเป็นอย่างไรย่อมไม่ผูกพันผู้คัดค้านคดีนี้เพราะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการ การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ข้ออุทธรณ์ประการอื่นที่ว่า อนุญาโตตุลาการไต่สวนพยานผู้คัดค้านเพียงปากเดียว ไม่ไต่สวนพยานอื่น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยข้อเท็จจริงเช่นกัน ซึ่งไม่เป็นเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องรับประกันภัยรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 83 – 2868 ชลบุรี เฉี่ยวชนกับรถยนต์ตู้โดยสาร หมายเลขทะเบียน ฮย 9371 กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้นายวีระเดช คนขับรถยนต์ตู้โดยสารถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการต่อมาอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสนอข้อพิพาทจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า มีเหตุเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ ผู้ร้องอุทธรณ์เพียงว่า อนุญาโตตุลาการไต่สวนและมีคำชี้ขาดโดยไม่รอผลในคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องนายประจักษ์ คนขับรถยนต์บรรทุกคันที่ผู้ร้องรับประกันภัยว่ากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และนางนลินี มารดาของผู้ตายฟ้องผู้กระทำละเมิดและนายจ้างเรียกค่าสินไหมทดแทนในคดีแพ่ง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 45 บัญญัติว่า “คดีเรื่องใดถึงแม้ว่าได้ฟ้องในทางอาญาแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องในทางแพ่งอีก” แม้มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” อย่างไรก็ดี หากผลคดีอาญายังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นประการใด ศาลในคดีส่วนแพ่งย่อมมีดุลพินิจดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาไปได้ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนโดยไม่ต้องรอคำพิพากษาคดีส่วนอาญา การใช้ดุลพินิจดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนคดีแพ่งที่นางนลินีฟ้องผู้กระทำละเมิดและนายจ้างเรียกค่าสินไหมทดแทนนั้น ผลแห่งคดีจะเป็นอย่างไรย่อมไม่ผูกพันผู้คัดค้านคดีนี้เพราะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการ การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้ออุทธรณ์ประการอื่นที่ว่า อนุญาโตตุลาการไต่สวนพยานผู้คัดค้านเพียงปากเดียว ไม่ไต่สวนพยานอื่น ก็เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยข้อเท็จจริงเช่นกัน ซึ่งไม่เป็นเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ทุนทรัพย์ชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์มีจำนวน 540,479.46 บาท ซึ่งจะต้องเสียค่าขึ้นศาลในแต่ละชั้นศาล 2,702 บาท แต่ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นต้น 10,200 บาท และค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท จึงต้องคืนส่วนที่เกินให้แก่ผู้ร้อง
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินมาแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share