คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คำให้การชั้นสอบสวนของ จ. จะระบุว่า จำเลยพูดขอร้อง จ. ว่าจำเลยจะทำอย่างไรดีช่วยจำเลยด้วย ซึ่งหากจำเลยไม่มีเจตนาที่จะใช้ จ. ไปฆ่าผู้ตายทั้งสองแล้วจำเลยก็น่าจะพูดในทำนองขอร้องให้ จ. ไปทำร้ายผู้ตายทั้งสองซึ่งเป็นการเพียงพอแล้ว มิใช่พูดทำนองให้ จ. ฆ่าผู้ตายทั้งสองเมื่อใดก็ได้ ถ้อยคำที่ จ. เล่าให้พนักงานสอบสวนฟังและพนักงานสอบสวนบันทึกลงในคำให้การดังกล่าว พอแปลได้ชัดว่า จำเลยมีเจตนาที่จะให้ จ. ไปฆ่าผู้ตายทั้งสอง ไม่ใช่เป็นการปรับทุกข์หรือปรึกษาหารือระหว่างจำเลยกับ จ. ในฐานะคนคุ้นเคย รักใคร่ชอบพอกันแต่อย่างใด แต่เป็นการพูดจาในลักษณะหว่านล้อม โน้มน้าวขอร้องโดยมีความประสงค์ที่จะให้ จ. ฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและชิงทรัพย์ผู้ตายทั้งสอง อันเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองและชิงทรัพย์ไปในลักษณะต่อเนื่องคราวเดียวแสดงให้เห็นถึงเจตนาของ จ. ว่า จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองเพื่อประสงค์ต่อผลในการฆ่าผู้ตายทั้งสองและประสงค์จะเอาทรัพย์ของผู้ตายทั้งสองไปเพื่อเป็นค่าดำเนินการด้วย ตามที่จำเลยแจ้งต่อ จ. ว่าจะต้องฆ่าผู้ตายทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากัน และผู้ตายทั้งสองมีทรัพย์สินอยู่ในที่เกิดเหตุสามารถชิงไปได้ มิได้มีเจตนาฆ่าผู้ตายที่ 1 และชิงทรัพย์ไป แล้วเกิดเจตนาฆ่าผู้ตายที่ 2 แล้วชิงทรัพย์ ขึ้นภายหลังเพิ่มขึ้นอีก ลักษณะเจตนาในการกระทำความผิดจึงเป็นอันเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 84, 91, 289, 339, 340 ตรี ริบลูกกระสุนปืนทองแดงหุ้มตะกั่ว 1 ลูก อาวุธปืนคาร์ไบน์ (M.1) ขนาด .30 CARBINE 1 กระบอก พร้อมซองกระสุนปืน 1 ซอง โทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ด หมายเลข 09 8321 xxxx จำนวน 1 เครื่อง และรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า 1 คัน ของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 191,000 บาท แก่ทายาทของผู้ตายที่ 1 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 6,000 บาท แก่ทายาทของผู้ตายที่ 2
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายศรายุทธ บุตรชายของนางอรุณ ผู้ตายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบลูกกระสุนปืนทองแดงหุ้มตะกั่ว 1 ลูก อาวุธปืนคาร์ไบน์ (M.1) ขนาด .30 CARBINE 1 กระบอก พร้อมซองกระสุนปืน 1 ซอง ของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี, 86 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิต ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ให้จำเลยคืนทรัพย์สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท และอาวุธปืนสั้น ขนาด 9 มม. ยี่ห้อเทารัส เครื่องหมายทะเบียน กท 5245097 หรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 140,000 บาท แก่ทายาทของผู้ตายที่ 1 ให้ริบลูกกระสุนปืนทองแดงหุ้มตะกั่ว 1 ลูก อาวุธปืนคาร์ไบน์ (M.1) ขนาด .30 CARBINE 1 กระบอก พร้อมซองกระสุนปืน 1 ซอง และโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ด หมายเลข 09 8321 xxxx จำนวน 1 เครื่อง ของกลาง ข้อหาอื่นและคำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองโดยคู่ความมิได้โต้เถียงว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2558 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงต่อเนื่องกัน นายชาตรีหรือจุก ขับรถจักรยานยนต์ของตนมีนายจำเนียรหรืออ้อ นั่งซ้อนท้าย โดยนายจำเนียรถืออาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ใส่ถุงปุ๋ยไปด้วย แล้วนายจำเนียรให้นายชาตรีขับรถไปส่งบริเวณทางเข้ากระท่อมที่เกิดเหตุตำบลสี่ร้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง แล้วนายชาตรีขับรถกลับมาที่บ้านเช่าของนายจำเนียร ส่วนนายจำเนียรใช้ไฟฉายส่องเดินเข้าไปในกระท่อมนาดังกล่าว แล้วใช้อาวุธปืนที่เตรียมไปยิงจ่าสิบเอกสุรศักดิ์ ผู้ตายที่ 1 และนางอรุณ ผู้ตายที่ 2 ซึ่งเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายถึงแก่ความตายทั้งคู่ จากนั้นนายจำเนียรชิงทรัพย์เอาสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท 1 เส้น อาวุธปืนสั้น ขนาด 9 มม. 1 กระบอก และรถจักรยานยนต์ 1 คัน ของผู้ตายที่ 1 ไป เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 เวลา 9.56 นาฬิกา นายนพดล ซึ่งเป็นหลานชายของนายจำเนียรได้พานายจำเนียรนำสร้อยคอทองคำของผู้ตายที่ 1 ไปจำนำที่โรงรับจำนำคิมไถ่ ในราคา 86,000 บาท หลังเกิดเหตุ 4 ถึง 5 วัน นายจำเนียรนำเงิน 20,000 บาท ไปแบ่งให้นายชาตรีและนายจำเนียรนำอาวุธปืนสั้นของผู้ตายที่ 1 ไปขายฝากให้แก่นายเอกบุรุษ แต่ภายหลังนายเอกบุรุษไม่สามารถติดต่อนายจำเนียรได้ จึงนำอาวุธปืนไปขายต่อให้นายเวศ สำหรับรถจักรยานยนต์ของผู้ตายที่ 1 ขายยาก ไม่มีคนรับซื้อ จึงเอาไปทำลาย ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจงมเครื่องรถจักรยานยนต์ได้จากบ่อน้ำ และได้คืนเครื่องรถจักรยานยนต์ดังกล่าวให้แก่ทายาทของผู้ตายที่ 1 แล้ว ส่วนอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตายทั้งสองพร้อมซองกระสุนปืน เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากบริเวณริมรั้วเขตติดต่อพรมแดนไทย – เมียนมา อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ศาลมณฑลทหารบกที่ 13 ออกหมายจับนายจำเนียร และเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายจำเนียรได้วันเดียวกันจึงแจ้งข้อหาและแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีและใช้อาวุธปืน และใช้ยานพาหนะในการกระทำความผิด มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ร่วมกันพาและยิงปืนโดยใช่เหตุ นายจำเนียรให้การรับสารภาพ เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ดได้ 2 เครื่อง จากนายจำเนียร หมายเลข 09 2630 xxxx และ 09 8313 xxxx เป็นของกลาง ชั้นสอบสวนนายจำเนียรให้การรับสารภาพ เมื่อปลายปี 2556 นายจำเนียรเคยได้รับโทษจำคุกในคดีครอบครองอาวุธปืน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ศาลมณฑลทหารบกที่ 13 ออกหมายจับนายชาตรีและในวันเดียวกันนั้นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายชาตรีได้ กับยึดรถจักรยานยนต์ของนายชาตรีที่ใช้รับส่งนายจำเนียรในคืนเกิดเหตุ และโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ดหมายเลข 08 3812 xxxx เป็นของกลาง ชั้นสอบสวนนายชาตรีให้การปฏิเสธ และนายชาตรีให้การในฐานะพยานไว้ด้วย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ศาลมณฑลทหารบกที่ 13 ออกหมายจับจำเลยและในวันเดียวกันเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ แจ้งข้อหาว่าเป็นผู้ใช้ให้ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ใช้ให้ชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยมีและใช้อาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้และโดยใช้ยานพาหนะในการกระทำความผิด จำเลยให้การปฏิเสธพร้อมยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยหมายเลข 09 8321 xxxx เป็นของกลาง ชั้นสอบสวนพนักงานสอบแจ้งข้อหาเดียวกันกับชั้นจับกุม จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธ ผู้ตายที่ 1 และจำเลยต่างเป็นบุตรของนายสอาด กับนางสาย ซึ่งมีบุตรด้วยกัน 6 คน ผู้ตายที่ 1 เป็นบุตรคนที่ 2 ส่วนจำเลยเป็นบุตรคนที่ 5 เดิมจำเลยมีสามีชื่อนายชาญณรงค์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน ต่อมานายชาญณรงค์เสียชีวิตเมื่อปี 2547 ครั้นปี 2550 จำเลยแต่งงานใหม่กับนายสำรวย และย้ายไปอยู่กับนายสำรวยที่ตำบลโคกช้าง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2552 จำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และต้องขังในระหว่างพิจารณาคดีเป็นเวลา 4 ปี จนปี 2556 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง จำเลยได้รับการปล่อยตัวและกลับมาอยู่กับนายสอาดที่ตำบลบางจัก จนถึงปัจจุบัน ส่วนนายสำรวยเสียชีวิตเมื่อปี 2557 นายจำเนียรรู้จักกับจำเลยมานานกว่า 10 ปี แต่หลังจากภริยาของนายจำเนียรเสียชีวิตแล้วจึงมารักใคร่ชอบพอจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ และมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้บันทึกการจับกุมนายจำเนียรและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายจำเนียรจะเป็นพยานบอกเล่าและมีลักษณะเป็นคำให้การซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลย แต่บันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวมีลักษณะการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนับแต่มูลเหตุตามคดีระหว่างจำเลยกับผู้ตายที่ 1 ว่าเกิดจากการขัดแย้งเรื่องมรดกและพฤติกรรมของผู้ตายที่ 1 ที่มีนิสัยเอะอะโวยวายข่มขู่จำเลย ทำตัวเป็นใหญ่ภายในบ้าน ทั้งผู้ตายที่ 1 ไม่ยอมให้จำเลยสร้างบ้าน หากผู้ตายที่ 1 อยู่ต่อไปน้อง ๆ รวมทั้งจำเลยจะเดือดร้อนจึงขอให้นายจำเนียรไปฆ่าผู้ตายที่ 1 และภริยา จนกระทั่งนายจำเนียรฆ่าคนทั้งสองจนถึงแก่ความตาย การให้ถ้อยคำของนายจำเนียรดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นการให้ถ้อยคำในลักษณะของการปัดความรับผิดไปให้จำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่ยอมรับว่านายจำเนียรเป็นผู้กระทำความผิดร่วมด้วย อีกทั้งมีรายละเอียดอันเป็นเรื่องราวส่วนตัวระหว่างจำเลยกับผู้ตายที่ 1 และคนในครอบครัว หากนายจำเนียรไม่ได้ให้การดังกล่าวไว้จริงก็เป็นการยากที่พนักงานสอบสวนและผู้จับกุมซึ่งไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจะแต่งเรื่องขึ้นมาเองหรือตั้งประเด็นข้อเท็จจริงขึ้นมาก่อนที่นายจำเนียรจะให้การต่อผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวนเพื่อปรักปรำจำเลย โดยเฉพาะนายจำเนียรเองก็เบิกความว่ารักใคร่ชอบพอกับจำเลย ระหว่างที่คบหากันนั้น จำเลยเคยเล่าให้ฟังว่ามีความลำบากเนื่องจากทะเลาะผู้ตายที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องเงิน ดังนั้นถ้าไม่ได้เป็นความจริงคงไม่ให้การปรักปรำใส่ร้ายคนรักของตนเองโดยเฉพาะคดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์และมีโทษสูง ทั้งข้อความดังกล่าวได้จัดทำขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันที่นายจำเนียรถูกจับกุมและในวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ตามลำดับ นายจำเนียรจึงยังไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองเพื่อจะบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น แต่นายจำเนียรมาเบิกความต่อศาลเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ภายหลังที่ถูกจับกุมเป็นเวลานานเกือบ 8 เดือน จึงมีเวลาคิดใคร่ครวญหรือได้รับการติดต่อให้เบิกความบ่ายเบี่ยงเพื่อช่วยเหลือจำเลยซึ่งเป็นคนรักของตนก็เป็นได้ แม้จำเลยจะอ้างว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของนายจำเนียรนั้นได้ทำขึ้นโดยนายจำเนียรไม่มีทนายความของตนเอง แต่ก็ได้ความว่าบันทึกฉบับดังกล่าวทำขึ้นต่อหน้านายวิญญู ทนายความซึ่งอยู่ด้วยและร่วมฟังการสอบสวนหลังจากที่พนักงานสอบสวนถามนายจำเนียรแล้วว่าประสงค์จะให้ทนายความหรือผู้ที่นายจำเนียรไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ นายจำเนียรเองเป็นฝ่ายแจ้งว่าตนประสงค์จะให้การตามลำพังด้วยตนเองและไม่ประสงค์ให้ทนายความหรือผู้ที่นายจำเนียรไว้วางใจร่วมฟังการสอบสวน และไม่ต้องการให้พนักงานสอบสวนจัดหาให้ ทั้งนายจำเนียรก็ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบว่านายจำเนียรทราบและเข้าใจข้อเท็จจริงข้อกล่าวหาสิทธิผู้ต้องหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบแล้วว่า นายจำเนียรมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ถ้อยคำที่นายจำเนียรให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา นายจำเนียรจึงขอให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจโดยไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือให้สัญญาให้นายจำเนียรให้การแต่อย่างใด ทั้งนายจำเนียรได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ต้องหาท้ายข้อความที่ระบุว่า “เป็นความจริงอ่านให้ฟังแล้วรับว่าถูกต้อง” โดยมีลายมือชื่อของทนายความอยู่ด้วย การที่จำเลยฎีกาว่า นายจำเนียรไม่ได้อ่านข้อความในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนที่ระบุว่า “การที่ข้าพเจ้าลงมือฆ่าจ่าสิบเอกสุรศักดิ์เนื่องจากนางสาวดวงรัตน์เป็นผู้จ้างวาน” และไม่ได้ให้การในข้อความตามที่ระบุไว้ในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ที่ระบุว่า “นางสาวดวงรัตน์เป็นผู้ใช้ให้ข้าพเจ้าไปฆ่าจ่าสิบเอกสุรศักดิ์” จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง อีกทั้งเมื่อพิจารณาคำให้การชั้นสอบสวนนายจำเนียรประกอบกับคำเบิกความของร้อยตำรวจโทยุทธพงษ์ เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งได้รับมอบหมายให้สืบสวนเหตุการณ์เสียชีวิตของผู้ตายที่ 1 ว่า จากการสืบสวนเบื้องต้นทราบว่า ในครอบครัวของผู้ตายที่ 1 มีความขัดแย้งระหว่างพี่น้องเกี่ยวกับเรื่องปมมรดก พยานและทีมสอบสวนจึงขอรายงานการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของพี่น้องจากบริษัท ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย จากการตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของบุคคลในครอบครัวพบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อระหว่างหมายเลขของจำเลยคือ 09 8321 xxxx ของจำเลยกับหมายเลข 09 8946 xxxx ซึ่งแม้ขณะจับกุมนายจำเนียรพร้อมกับยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ด 2 เครื่อง ที่ไม่ใช่หมายเลข 09 8946 xxxx ก็ตาม แต่จำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่า นายจำเนียรใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 8946 xxxx และเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบจากโทรศัพท์หมายเลขนี้ว่า นายจำเนียรติดต่อนายนภดลหลานชายซึ่งอยู่ที่อำเภอบางกรวย แล้วต่อมานายนพดลพานายจำเนียรนำสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ไปจำนำที่โรงรับจำนำคิมไถ่ กรณีจึงฟังได้ว่านายจำเนียรใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวเพื่อติดต่อกับจำเลยในวันเกิดเหตุจริง ดังนี้แม้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายจำเนียรซึ่งให้การว่าจำเลยเป็นผู้ใช้ให้นายจำเนียรไปฆ่าผู้ตายทั้งสองจะเป็นพยานบอกเล่าที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของบันทึกคำให้การดังกล่าวซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่านายจำเนียรได้ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนด้วยสมัครใจและเป็นการให้ถ้อยคำทันทีหลังจากถูกจับกุม รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็สอดคล้องต้องกันสมเหตุสมผลในอันที่จะเป็นเหตุให้มีการกระทำและสอดคล้องกับพยานหลักฐานอื่นที่ปรากฏ น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ศาลจึงชอบจะรับฟังพยานบอกเล่านี้ได้ เชื่อว่าข้อเท็จจริงที่นายจำเนียรให้การในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของนายจำเนียรในชั้นศาล
มีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ข้อความตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายจำเนียร เป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพันตำรวจโทโสภณ พนักงานสอบสวนผู้ร่วมสอบสวนเป็นพยานและเป็นผู้จัดทำบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายจำเนียรว่า ในชั้นสอบสวนหลังจากแจ้งข้อหาให้นายจำเนียรทราบแล้ว นายจำเนียรให้การรับสารภาพและให้การเพิ่มเติมว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ประมาณ 5 ถึง 6 เดือน นายจำเนียรรักใคร่ชอบพอกับจำเลยมีการไปมาหาสู่และโทรศัพท์คุยกันหลายครั้ง ส่วนสาระสำคัญของคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารทั้งสองฉบับมีใจความว่า เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2558 นายจำเนียรไปหาจำเลยที่บ้าน จำเลยเล่าให้ฟังว่าผู้ตายที่ 1 มีพฤติกรรมเอะอะโวยวายข่มขู่จำเลย ทำตัวเป็นใหญ่ภายในบ้าน จำเลยมีความประสงค์จะสร้างบ้านก็ไม่ยอมให้สร้าง หากผู้ตายที่ 1 อยู่ต่อไป น้อง ๆ จะเดือดร้อน จึงขอให้นายจำเนียรไปฆ่าผู้ตายที่ 1 แต่เนื่องจากผู้ตายที่ 1 มีภริยาคือผู้ตายที่ 2 หากฆ่าผู้ตายที่ 1 แล้วทรัพย์สมบัติจะตกแก่ภริยา จึงให้นายจำเนียรฆ่าคนทั้งคู่ ส่วนเงินค่าจ้างนั้นจำเลยไม่มีให้ แต่เล่าให้ฟังว่าในกระท่อมของผู้ตายที่ 1 มีเงินที่ได้จากการขายข้าว 100,000 บาท สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท และอาวุธปืนพก 1 กระบอก ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวไป พยานได้สอบถามนายจำเนียรว่า หากจำเลยไม่ใช้ให้ไปฆ่าผู้ตายที่ 1 แล้ว นายจำเนียรจะไปฆ่าหรือไม่ นายจำเนียรตอบว่าไม่ไปฆ่า ส่วนเรื่องทรัพย์สินเป็นเพียงผลพลอยได้ ในคำให้การชั้นสอบสวนยังระบุอีกว่า จำเลยบอกนายจำเนียรว่าจะทำอะไรก็ทำได้และบอกให้นายจำเนียรระวังตัว ถ้าจะลงมือฆ่าไม่ต้องโทรศัพท์มาบอกจำเลยก่อน จะทำหรือฆ่าเมื่อใดก็ทำไปเลย และนายจำเนียรเองก็ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายที่ 1 และภริยามาก่อน คำเบิกความของพันตำรวจโทโสภณประกอบคำให้การชั้นสอบสวนของนายจำเนียร จึงบ่งชี้ให้เห็นว่าก่อนเกิดเหตุนายจำเนียรไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายที่ 1 ฉะนั้นความคิดที่จะฆ่าผู้ตายทั้งสองจึงยังไม่มี จนกระทั่งจำเลยมาเล่าเรื่องที่มีปัญหากับผู้ตายที่ 1 ให้นายจำเนียรฟังสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของนายจำเนียรว่านายจำเนียรฆ่าผู้ตายทั้งสองเพราะสาเหตุที่จำเลยบอกวานนายจำเนียรว่าให้จัดการฆ่าคนทั้งสอง ซึ่งผู้ตายที่ 1 ชอบขัดขวางในการแบ่งทรัพย์สินของญาติพี่น้องรวมทั้งจำเลย โดยนายจำเนียรคิดว่าถ้านายจำเนียรกระทำไปแล้ว นายจำเนียรจะได้ทรัพย์สินของผู้ตายจากการฆ่าด้วย และจำเลยจะมีความชอบพอกับนายจำเนียรเพิ่มขึ้นอีกและนายจำเนียรกับจำเลยอาจจะเป็นสามีภริยากันสะดวกในวันข้างหน้า นายจำเนียรเองก็ยืนยันว่านายจำเนียรไม่รู้จักไม่คุ้นกับผู้ตายที่ 1 และภริยามาก่อน แต่จำเลยเป็นผู้วานบอกนายจำเนียรให้เป็นคนฆ่า แม้ในคำให้การชั้นสอบสวนจะระบุว่า จำเลยพูดขอร้องนายจำเนียรว่าจำเลยจะทำอย่างไรดีช่วยจำเลยด้วย ซึ่งหากจำเลยไม่มีเจตนาที่ใช้นายจำเนียรไปฆ่าผู้ตายทั้งสองแล้วจำเลยก็น่าจะพูดในทำนองขอร้องให้นายจำเนียรไปทำร้ายผู้ตายทั้งสองซึ่งเป็นการเพียงพอแล้ว มิใช่พูดทำนองให้นายจำเนียรฆ่าผู้ตายทั้งสองเมื่อใดก็ได้ ถ้อยคำที่นายจำเนียรเล่าให้พันตำรวจโทโสภณ พนักงานสอบสวนฟังและพนักงานสอบสวนบันทึกลงในคำให้การดังกล่าว พอแปลได้ชัดว่า จำเลยมีเจตนามุ่งมั่นที่จะให้นายจำเนียรไปฆ่าผู้ตายทั้งสองอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นการปรับทุกข์หรือปรึกษาหารือระหว่างจำเลยกับนายจำเนียรในฐานะคนคุ้นเคย รักใคร่ชอบพอกันแต่อย่างใด แต่เป็นการพูดจาในลักษณะหว่านล้อม โน้มน้าวขอร้องโดยมีความประสงค์ที่จะให้นายจำเนียรฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและชิงทรัพย์ผู้ตายทั้งสอง อันเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าในวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุจำเลยและนายจำเนียรมีการโทรศัพท์ติดต่อกันไปมาหลายครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาพูดกันนานโดยครั้งที่นานที่สุดคือครั้งที่นายจำเนียรโทรมาหาจำเลยใช้เวลาพูดคุยถึง 27 นาทีเศษ หรือ 1,623 วินาที นอกจากนี้เกี่ยวกับสถานที่การใช้โทรศัพท์ของนายจำเนียรพบว่าในวันเกิดเหตุนายจำเนียรโทรศัพท์ออกจากพื้นที่คลองขนากหลายครั้ง โดยการพูดคุยระหว่างนายจำเนียรกับจำเลยทางโทรศัพท์ซึ่งใช้เวลาถึง 27 นาทีเศษนั้น เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุเวลา 19.35 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาก่อนเกิดเหตุ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยและนายจำเนียรพูดคุยกันในเรื่องการวางแผนฆ่าผู้ตายที่ 1 และภริยา หลังจากนั้นนายจำเนียรจึงโทรศัพท์ไปถึงนายชาตรีในเวลาประมาณ 22 นาฬิกาเศษ เพื่อให้นายชาตรีไปรับนายจำเนียรเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ ดังนี้เมื่อทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่านายจำเนียรคิดจะฆ่าผู้ตายทั้งสองและชิงทรัพย์ผู้ตายทั้งสองอยู่ก่อน การตัดสินใจฆ่าผู้ตายทั้งสองและชิงทรัพย์ผู้ตายทั้งสองของนายจำเนียรจึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยขอให้นายจำเนียรไปฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและชิงทรัพย์ผู้ตายทั้งสองอันเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดแล้วนั้นเอง หาใช่เป็นผลมาจากการชี้ช่องให้นายจำเนียรต้องการกระทำความผิดมากยิ่งขึ้นของจำเลยแต่อย่างใดไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด หาใช่เป็นผู้สนับสนุน ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่นายจำเนียรพูดคุยกับจำเลยเพื่อหาข้อมูลที่จะก่อเหตุโดยที่จำเลยไม่ล่วงรู้เจตนาของนายจำเนียรมาก่อน ตามที่จำเลยฎีกาไม่
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำความผิด 2 กรรม เป็นการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกันและในคำขอท้ายฟ้องโจทก์ระบุอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ไว้ในคำขอท้ายฟ้องด้วยซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่านายจำเนียรใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองและชิงทรัพย์ไปในลักษณะต่อเนื่องในคราวเดียวแสดงให้เห็นถึงเจตนาของนายจำเนียรว่า นายจำเนียรใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองเพื่อประสงค์ต่อผลในการฆ่าผู้ตายทั้งสองและประสงค์จะเอาทรัพย์ของผู้ตายทั้งสองไปเพื่อเป็นค่าดำเนินการด้วย ตามที่จำเลยแจ้งต่อนายจำเนียรว่าจะต้องฆ่าผู้ตายทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากัน และผู้ตายทั้งสองมีทรัพย์สินอยู่ในที่เกิดเหตุสามารถชิงไปได้ มิได้มีเจตนาฆ่าผู้ตายที่ 1 และชิงทรัพย์ไป แล้วเกิดเจตนาฆ่าผู้ตายที่ 2 แล้วชิงทรัพย์ ขึ้นภายหลังเพิ่มขึ้นอีก ลักษณะเจตนาในการกระทำความผิดจึงเป็นอันเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันดังเช่นโจทก์ฎีกาไม่
ส่วนปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า กรณีน่าเชื่อว่านอกจากนายจำเนียรจะชิงเอาทรัพย์จำนวน 4 รายการ ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแล้ว ยังชิงเอาสร้อยคอนากของผู้ตายที่ 2 กับพระแกะสลักจากงาช้างเลี่ยมทอง นาฬิกาและแหวนของผู้ตายที่ 1 ไปด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นนายจำเนียรชิงเอาทรัพย์ดังกล่าวไปคงปรากฏจากการนำสืบของโจทก์เพียงว่า จำเลยชิงทรัพย์ไปทั้งหมด 4 รายการ คือ สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท 1 เส้น อาวุธปืนสั้น 1 กระบอก รถจักรยานยนต์ 1 คัน และเงิน 360 บาท ซึ่งเป็นของผู้ตายที่ 1 ประกอบกับนายจำเนียรเบิกความว่าตนชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท โดยไม่ได้กล่าวถึงพระแกะสลักจากงาช้างเลี่ยมทองคำที่ห้อยอยู่ที่สร้อยคอแต่อย่างใด สอดคล้องกับคำให้การของนายนพดลที่ว่านายนพดลพานายจำเนียรไปจำนำสร้อยคอทองคำ 1 เส้น กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่านายจำเนียรได้ชิงเอาสร้อยคอนากของผู้ตายที่ 2 กับพระแกะสลักจากงาช้างเลี่ยมทอง นาฬิกาและแหวนของผู้ตายที่ 1 ไปด้วย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า รถจักรยานยนต์ของกลางของนายชาตรีเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดจึงต้องริบนั้น เห็นว่า การที่นายชาตรีขับรถจักรยานยนต์ของกลางไปรับส่งนายจำเนียรเพื่อไปฆ่าผู้ตายทั้งสองแล้วชิงทรัพย์ของผู้ตายทั้งสองแล้วขับกลับ รถจักรยานยนต์จึงเป็นเพียงยานพาหนะที่ใช้เพื่อให้พ้นจากการจับกุมไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงอันจะพึงริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 โดยสรุปฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน สำหรับฎีกาของจำเลยและโจทก์ข้ออื่นเป็นฎีกาปลีกย่อยไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัย เนื่องจากไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาของศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เห็นควรวินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 84 และมาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี, 84 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษประหารชีวิต ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 คงจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share