คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8366/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มีสิทธิที่จะนำลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียงเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” “ปรารถนา” และ “ในฝัน” ขับร้องโดยทูล ทองใจ ไปผลิตเป็นเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียงและแผ่นซีดีเพลงทุกขนาด โจทก์ไม่ได้มีสิทธิที่จะนำเพลงพิพาทไปทำอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ตกลงไว้ รวมถึงการทำวีซีดีคาราโอเกะด้วย เพราะการทำวีซีดีคาราโอเกะไม่ใช่การทำซีดีเพลงโจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการทำคาราโอเกะ แต่โจทก์ยังไม่ได้ผลิตวีซีดีคาราโอเกะเพลงพิพาท จึงไม่มีงานซึ่งเกิดจากการที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นต้นแบบที่จำเลยจะคัดลอก เลียนแบบ หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม จำเลยจึงมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงงานลิขสิทธิ์อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ โจทก์ได้รับอนุญาตจากบริษัทห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด ให้ใช้ลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียงต้นฉบับเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” “ปรารถนา” และ “ในฝัน” ขับร้องโดย ทูล บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี 2500 และปี 2501 โดยให้นำไปผลิตเป็นเทปคาสเซ็ทแผ่นเสียง และแผ่นซีดีทุกขนาด ภายใต้เครื่องหมายการค้าแผ่นเสียงและเทปตรามงกุฎได้แต่เพียงผู้เดียว และยังได้รับอนุญาตจากนางสาวอาริยา ทายาทโดยธรรมของนายคนชมหรือนายตุ้มทองหรือครูเบญจมินทร์ผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลงทั้งสามเพลงดังกล่าวให้โจทก์มีสิทธินำคำร้องและทำนองเพลงทั้งสามเพลงดังกล่าวในสิ่งบันทึกเสียงต้นฉบับเพลงที่บันทึกไว้ก่อนปี 2508 ไปทำซ้ำ ดัดแปลง ผลิตเป็นสิ่งบันทึกเสียง คาราโอเกะ และโสตทัศนวัสดุทุกชนิดได้แต่เพียงผู้เดียว ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เมื่อกลางปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ทั้งกลางวันและกลางคืน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือจำเลยทั้งสองร่วมกันนำเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” “ปรารถนา” และ “ในฝัน” ดังกล่าวไปทำซ้ำดัดแปลง บันทึกเสียงนักร้อง ทำนองเพลงจากสิ่งบันทึกเสียงต้นฉบับ และทำให้ปรากฏภาพและบรรยายคำร้องลงในแผ่นวีซีดีคาราโอเกะเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยการเสนอขาย เพื่อหากำไรในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบแล้ว แต่จำเลยทั้งสองยังกระทำละเมิดลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวต่อไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 29, 31, 69, 70, 74, 75, 76 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และขอให้ศาลสั่งจ่ายเงินค่าปรับที่จำเลยทั้งสองได้ชำระตามคำพิพากษาจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบแผ่นวีซีดีคาราโอเกะที่ได้บันทึกเสียงเพลงและบรรยายคำร้องอันละเมิดลิขสิทธิ์ พร้อมตลับใส่แผ่นวีซีดีคาราโอเกะให้แก่โจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ” พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ทำสัญญากับบริษัทห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้นำลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียงเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” “ปรารถนา” และ “ในฝัน” ขับร้องโดยทูล ไปผลิตเป็นเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียง และแผ่นซีดีเพลงทุกขนาด ภายใต้เครื่องหมายการค้าแผ่นเสียงและเทปตรามงกุฎ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 และได้ทำสัญญากับนางสาวอาริยา โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้นำคำร้องและทำนองเพลงพิพาทดังกล่าวไปทำซ้ำ ดัดแปลง ผลิตเป็นสิ่งบันทึกเสียงคาราโอเกะและโสตทัศนวัสดุทุกชนิดแต่เพียงผู้เดียว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 จำเลยทั้งสองร่วมกันทำแผ่นวีซีดีคาราโอเกะซึ่งมีเพลงพิพาทดังกล่าวออกจำหน่าย ปรากฏตามวัตถุพยานหมาย วจ.7 และ วจ.8 โจทก์ไม่เคยนำเพลงพิพาทดังกล่าวไปทำในลักษณะที่เป็นวีซีดีคาราโอเกะ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.8 ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.5 โจทก์ไม่ได้มีสิทธิในคำร้องและทำนองเพลงพิพาทดังกล่าวที่จะดำเนินการใด ๆ ก็ได้ โจทก์เพียงมีสิทธิที่จะนำลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียงเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” “ปรารถนา” และ “ในฝัน” ขับร้องโดยทูลไปผลิตเป็นเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียงและแผ่นซีดีเพลงทุกขนาดเท่านั้น โจทก์ไม่ได้มีสิทธิที่จะนำเพลงพิพาทดังกล่าวไปทำอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ตกลงไว้ รวมถึงการทำวีซีดีคาราโอเกะด้วย เพราะการทำวีซีดีคาราโอเกะไม่ใช่การทำซีดีเพลงดังที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามความผิดที่อ้างเป็นคดีนี้ สำหรับเอกสารหมาย จ.8 นั้น แม้โจทก์จะได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการทำคาราโอเกะ แต่การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำแผ่นวีซีดีคาราโอเกะซึ่งมีเพลงพิพาทดังกล่าวออกจำหน่ายก็ไม่ถือว่าเป็นการทำซ้ำดัดแปลงงานของโจทก์เพราะตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ให้นิยามศัพท์คำว่า “ทำซ้ำ” ว่า หมายความรวมถึงคัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใดๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพ จากต้นฉบับ จากสำเนา หรือจากการโฆษณาในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และคำว่า “ดัดแปลง” หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้ผลิตวีซีดีคาราโอเกะเพลงพิพาทดังกล่าว จึงไม่มีงานซึ่งเกิดจากการที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นต้นแบบที่จำเลยทั้งสองจะคัดลอก เลียนแบบ หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองทำซ้ำหรือดัดแปลงงานลิขสิทธิ์อันเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share