คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8377/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ส่งคำร้องของจำเลยที่ 2 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 มิใช่คำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา 18, 227, 228
การอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเพียงประการเดียวหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือไม่ก็ตาม นอกจากผู้อุทธรณ์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แล้ว หากอุทธรณ์คำสั่งนั้นมีผลกระทบต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นผู้อุทธรณ์ก็ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะคำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นเพียงประการเดียวโดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วย แต่อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มีผลกระทบต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยตรง เพราะหากอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็จะอนุญาตให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ย่อมทำให้ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ โดยต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีผลทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นถูกเพิกถอนไปด้วย เท่ากับเป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229
ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 229 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้บังคับคดีนี้เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 2, 30, 272 ขอให้ศาลฎีการอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน มีลักษณะเลื่อนลอยไม่ชัดแจ้งว่าบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 229 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 2, 30, 272 อย่างไรหรือเป็นเพราะเหตุใด เป็นฎีกาที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 2 ผู้ทำสัญญาค้ำประกันและจำนอง และจำเลยที่ 3 ผู้ทำสัญญาค้ำประกันและจำนอง ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญาค้ำประกัน และสัญญาจำนองเป็นเงิน 11,528,094.82 บาท แก่โจทก์ โดยโจทก์คิดดอกเบี้ยตามประกาศของโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อนเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีโจทก์คิดทบต้น ส่วนหลังเลิกสัญญาคิดไม่ทบต้น เมื่อคิดถึงวันที่ 13 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันฟ้อง เป็นต้นเงินและดอกเบี้ยตามจำนวนดังกล่าว จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,692,316.14 บาท หรือในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้โจทก์เรียกเก็บได้ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ยังไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย การที่กำหนดในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 การคิดดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นหลังจากวันนี้อีก แต่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตลอดมา จำนวนเงินตามฟ้องจึงไม่ถูกต้องข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดหลังเลิกสัญญาตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ล่วงหน้าชอบที่ศาลจะใช้ดุลพินิจลดลงได้ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับจำนองเกินวงเงินที่จดทะเบียนจำนอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ต้นเงินเพียง 801,760.83 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหลายฉบับรวมทั้งพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ตกเป็นโมฆะ ข้อตกลงที่ให้ยึดทรัพย์สินอื่นนอกจากทรัพย์สินที่จำนองได้เป็นโมฆะ ข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไปว่าปี 2539 และ 2540 ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ จำเลยย่อมได้รับความรับรองจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8, 150, 205, 219 และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 1, 3, 4, 6, 29, 30, 48 ที่จะไม่ต้องชำระหนี้ ขณะที่โจทก์ฟ้อง (ปี 2544) ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจยังไม่จบสิ้น จำเลยและประชาชนทั้งประเทศยังมีความชอบธรรมที่จะไม่ต้องชำระหนี้ เพราะได้รับความรับรองและคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ต่อมารัฐบาลออกพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2544 กำหนดหลักเกณฑ์ให้โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยไว้ในมาตรา 30 และ 31 โดยตามมาตรา 30 กำหนดให้โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รัฐถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบแก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ส่วนมาตรา 31 กำหนดหลักเกณฑ์การโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินแก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยไว้เข้มงวด เช่น ลูกหนี้ต้องเป็นนิติบุคคล ทำให้ฝ่ายจำเลยยังไม่ได้เป็นนิติบุคคลไม่ได้รับการโอนสินทรัพย์แก่บรรษัทดังกล่าวด้วย มาตรา 31 จึงเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิของบุคคล ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 สองฉบับ ฉบับแรกยื่นคำร้องว่า การที่โจทก์ฟ้องและบังคับคดีจำเลยที่ 2 ก็โดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 194, 204 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และมาตรา 271 ถึงมาตรา 290 ซึ่งเป็นการฟ้องและบังคับคดีในยามปกติ แต่ในยามที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจและปัญหาดังกล่าวยังไม่จบสิ้น จำเลยย่อมได้รับความรับรองจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8, 150, 205, 219 และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 1, 3, 4, 6, 29, 30, 48 ที่จะไม่ต้องชำระหนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า การบังคับใช้บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 194, 204 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และมาตรา 271 ถึงมาตรา 290 ในยามวิกฤติเศรษฐกิจ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 1, 3, 4, 27, 28, 29, 30, 48 ศาลชั้นต้นสั่งในวันเดียวกัน ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ ฉบับที่สอง จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เมื่อพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ใช้บังคับ กำหนดหลักเกณฑ์ให้โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยไว้ในมาตรา 30 และ 31 โดยตามมาตรา 30 กำหนดให้โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รัฐถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบแก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ส่วนมาตรา 31 กำหนดหลักเกณฑ์การโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินแก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยไว้เข้มงวด เช่น ลูกหนี้ต้องเป็นนิติบุคคล ทำให้ลูกหนี้ที่ไม่เป็นนิติบุคคลเสียสิทธิไม่ได้รับการโอนสินทรัพย์แก่บรรษัทดังกล่าว ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติในมาตรา 31 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลตามกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 1 ถึง 4, 26 ถึง 30, 48, 55, 80 ศาลชั้นต้นสั่งในวันเดียวกันให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ จำเลยที่ 2 โต้แย้งคำสั่งทั้งสองคำสั่งดังกล่าวไว้แล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 11,528,094.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ในต้นเงิน 7,692,316.14 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 13 มีนาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะคำสั่งของศาลชั้นต้นทั้งสองคำสั่งที่ไม่ส่งคำร้องทั้งสองฉบับของจำเลยที่ 2 ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย โดยจำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท เท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ทั้งสองฉบับและพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ทั้งสองฉบับ คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ทั้งสองฉบับ เนื่องจากจำเลยที่ 2 มิได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางต่อศาลชั้นต้นพร้อมกับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ชอบแล้วหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นทั้งสองคำสั่งที่ไม่ส่งคำร้องของจำเลยที่ 2 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว เป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227, 228 จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ได้โดยเพียงเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 (ข) เดิม ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเท่านั้น ไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามมาตรา 229 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มิใช่อุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นตามมาตรา 226 (2), 229 ที่จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยนั้น เห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ส่งคำร้องของจำเลยที่ 2 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว เป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม เป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นตามมาตรา 226 มิใช่คำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา 18, 227, 228 ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา อย่างไรก็ตาม การอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเพียงประการเดียวหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือไม่ก็ตาม นอกจากผู้อุทธรณ์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แล้ว หากอุทธรณ์คำสั่งนั้นมีผลกระทบต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ผู้อุทธรณ์ก็อยู่ในบังคับที่จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามมาตรา 229 คดีนี้ แม้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะคำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวเพียงประการเดียวโดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วย แต่อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เช่นนี้เป็นอุทธรณ์ที่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยตรง เพราะหากอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็จะอนุญาตให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ย่อมทำให้ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ โดยศาลชั้นต้นต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีผลทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นถูกเพิกถอนไปด้วย เท่ากับเป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามมาตรา 229 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยมิได้นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลเช่นนี้ จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ทั้งสองฉบับ จึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 กล่าวในฎีกาว่า บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 229 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้บังคับคดีนี้เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 2, 30, 27 ขอให้ศาลฎีการอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยก่อนนั้น พิจารณาฎีกาส่วนนี้ตลอดแล้ว เห็นว่า มีลักษณะเลื่อนลอยไม่ชัดแจ้งว่าบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 2, 30, 27 อย่างไร หรือเป็นเพราะเหตุใด เป็นฎีกาที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยก่อนดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share