แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของ อ. โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ระบุจำนวนเงินพร้อมอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอน สามารถคำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องได้หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน การที่โจทก์อาจได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของ อ. ในภายหลังไม่เป็นเหตุให้หนี้ตามฟ้องกลับกลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์โดยมอบบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำไว้ให้แก่โจทก์เป็นประกันแต่มิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับการให้สิทธิโจทก์นำเงินฝากดังกล่าวมาหักชำระหนี้ไว้ สิทธิเรียกร้องในเงินฝากจึงยังเป็นของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์มิได้นำเงินฝากในบัญชีที่วางประกันไว้มาหักจากยอดหนี้ ก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสามมียอดหนี้ค้างชำระอยู่ตามฟ้อง ซึ่งจำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเพียงขอให้โจทก์นำเงินฝากมาหักกลบลบหนี้ได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือมีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ โจทก์จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดตามมาตรา 9 โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ได้ทำคำขอเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์จำนวน 15 ฉบับ เพื่อสั่งซื้อสินค้า ต่อมาเมื่อผู้ขายในต่างประเทศได้ส่งสินค้าตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิตลงเรือ โจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายแทนจำเลยที่ 1 ไป และเมื่อสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระให้แก่โจทก์ จึงได้ขอรับเอกสารการออกสินค้าตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิตและทำสัญญาทรัสต์รีซีท ให้ไว้แก่โจทก์จำนวน 15 ฉบับ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีททุกฉบับครบกำหนดเวลาชำระเงิน จำเลยที่ 1 มิได้นำเงินมาชำระตามสัญญา ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และมีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้อีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเพียงวันที่ 11 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เป็นต้นเงิน 8,140,599.28 บาท และดอกเบี้ย 7,177,559.88 บาท โดยตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนไม่ถูกต้องตามสัญญา โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548 เป็นเงิน 40,000 บาท คำนวณหนี้ถึงวันฟ้อง จำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้โจทก์รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 16,674,799 บาท นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2511 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยที่ 1 มีอยู่กับโจทก์ในวงเงิน 200,000 บาท และมีการทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติมกับโจทก์อีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2527 วงเงิน 1,500,000 บาท ครบกำหนดชำระเงินวันที่ 19 มีนาคม 2528 เพื่อประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2527 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันโดยตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 4,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ได้ขอต่ออายุสัญญาออกไปอีกหลายครั้งและเมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 1 ยังคงเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ต่อมาและไม่ชำระหนี้แก่โจทก์จนกระทั่งมีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2544 ต่อมาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2546 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์และมีการทำสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์อีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเพียงวันที่ 11 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์เป็นต้นเงิน 2,320,327.43 บาท และดอกเบี้ย 946,761.21 บาท โดยตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนไม่ถูกต้องตามสัญญา โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548 จำนวน 10,000 บาท คำนวณหนี้ส่วนนี้ถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้โจทก์รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 3,679,198.63 บาท รวมหนี้ที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ถึงวันฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 20,353,997.63 บาท จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 3,679,198.63 บาท จำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์มิได้นำยอดเงินฝากในบัญชีสะสมทรัพย์ เลขที่ 1120061385 จำนวน 1,000,000 บาท ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2524 และนำยอดเงินฝากประจำ 12 เดือน บัญชีเลขที่ 1122106378 จำนวน 1,000,000 บาท ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2527 พร้อมดอกเบี้ยไปหักจากยอดเงินที่เป็นหนี้ก่อน จำเลยทั้งสามมีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้โจทก์ ไม่ได้เป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 และนางอังคณาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเอกสารหมาย จ.2 เดิมจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 15 ฉบับ กับเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเพียงวันที่ 11 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแก่โจทก์เป็นต้นเงิน 8,140,599.28 บาท และดอกเบี้ย 7,177,559.88 บาท และค้างชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์เป็นต้นเงิน 2,320,327.43 บาท และดอกเบี้ย 946,761.21 บาท โดยจำเลยที่ 1 ตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้เอกสารหมาย จ.46 จำเลยที่ 2 และนางอังคณาเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในส่วนของหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทโดยตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 เอกสารหมาย จ.43 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และนางอังคณาเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในส่วนของหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ถึงครั้งที่ 5 สัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชี และหนังสือต่ออายุสัญญาเอกสารหมาย จ.51 ถึง จ.55 หลังจากทำสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครั้งสุดท้าย จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน ยอดหนี้ค้างชำระคำนวณถึงวันฟ้อง ตามสัญญาทรัสต์รีซีทรวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 16,694,799 บาท ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีรวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 3,679,198.63 บาท ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้นางอังคณาได้ถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องคดีล้มละลายและถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ 154/2546 ของศาลล้มละลายกลาง โจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่นางอังคณาเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ในคดีนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 อนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนางอังคณาจำนวน 15,954,861.76 บาท ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยคดีนี้ว่า มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นมูลหนี้เดียวกันกับที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ 154/2526 แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากนางอังคณาซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมจำนวนเท่าใด และได้นำมาหักกับยอดหนี้ในคดีนี้เพียงใด หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจึงไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน และพิพากษายกฟ้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า ศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนางอังคณาซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยทั้งสาม และโจทก์ไม่ได้นำสืบโดยตรงว่าได้รับเงินชำระหนี้ในคดีดังกล่าวและนำมาหักจากยอดหนี้คดีนี้แล้วหรือไม่ก็ตาม แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนและคำนวณดอกเบี้ยในต้นเงินที่ค้างชำระถึงวันฟ้อง โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่าได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนางอังคณาและนำมาหักออกจากยอดหนี้ ย่อมแสดงโดยปริยายว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว หากจำเลยทั้งสามเห็นว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนางอังคณาซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมแล้วเพียงใด จำเลยทั้งสามก็ชอบที่เป็นฝ่ายกล่าวอ้างขึ้น แต่จำเลยทั้งสามมิได้ให้การในข้อนี้แต่อย่างใด ทั้งมิได้นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนางอังคณา โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ระบุจำนวนเงินพร้อมอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอน สามารถคำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องได้ตามฟ้อง หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ส่วนการที่โจทก์อาจได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนางอังคณาในภายหลังนั้น หาเป็นเหตุให้หนี้ตามฟ้องกลับกลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่าหนี้ตามฟ้องไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนและพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสามต่อไปว่า ในการฟ้องคดีโจทก์จะต้องนำเงินฝากที่มอบไว้แก่โจทก์ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติมครั้งที่ 3 และครั้งที่ 5 เอกสารหมาย จ.51 และ จ.53 มาหักจากยอดหนี้ตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ซึ่งศาลล้มละลายกลางยังมิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว เมื่อศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาสืบพยานมาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปยังศาลล้มละลายกลาง สำหรับปัญหาประการแรกว่า โจทก์จะต้องนำเงินฝากที่มอบไว้แก่โจทก์มาหักจากยอดหนี้หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.51 และ จ.53 ปรากฏเพียงว่าในการทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครั้งที่ 3 และที่ 5 จำเลยที่ 1 ได้มอบบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำจำนวนเงินบัญชีละ 1,000,000 บาท ไว้ให้แก่โจทก์เป็นประกันเท่านั้น แต่มิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับการให้สิทธิโจทก์นำเงินฝากดังกล่าวมาหักชำระหนี้ไว้อย่างไร สิทธิเรียกร้องในเงินฝากจึงยังเป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้นแม้โจทก์มิได้นำเงินฝากในบัญชีที่วางประกันไว้มาหักจากยอดหนี้ดังที่จำเลยทั้งสามอ้าง กรณีก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสามมียอดหนี้ค้างชำระอยู่ตามฟ้อง ซึ่งจำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเพียงขอให้โจทก์นำเงินฝากมาหักกลบลบหนี้ได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือมีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ โจทก์จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ในอันที่จะต้องนำเงินในบัญชีเงินฝากที่จำเลยที่ 1 มอบให้ไว้มาหักจากยอดหนี้ก่อน และเมื่อเงินยังขาดอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงจะฟ้องจำเลยทั้งสามได้ เมื่อหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามมีจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดตามมาตรา 9 โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีล้มละลายได้ ส่วนปัญหาประการต่อไปว่าจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่นั้น เห็นว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แล้ว 2 ครั้ง ระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.10 จำเลยทั้งสามได้รับหนังสือดังกล่าวโดยชอบแล้วแต่ไม่ชำระหนี้ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ว่าจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสามมีหน้าที่นำพยานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสามแถลงไม่ติดใจสืบพยาน แม้จะฟังตามคำให้การของจำเลยทั้งสามว่า มีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ในบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำบัญชีละ 1,000,000 บาท รวม 2,000,000 บาท ซึ่งโจทก์ยังมิได้นำมาหักจากยอดหนี้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นต้นเงิน 10,113,570.83 บาท ดอกเบี้ย 10,240,426.80 บาท ซึ่งเห็นได้ว่าเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยในเงินที่ฝากยังไม่พอชำระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสามมิได้นำสืบว่ามีทรัพย์สินอื่นใดอีก จึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ คดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย”
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร