คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8337/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า น. มีส่วนประมาท จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของ น. ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทน น. ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 กับยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ด้วย
ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “…คำขอของผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมิให้เรียกค่าธรรมเนียม” ให้หมายรวมถึงกรณีจำเลยยื่นฎีกาด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณานางดวงใจ ภริยานายน้อย ผู้ตายและนายยนต์ บิดานายเด่น ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูก เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291) โดยเรียกนางดวงใจว่า โจทก์ร่วมที่ 1 เรียกนายยนต์ว่า โจทก์ร่วมที่ 2
โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดไร้อุปการะในส่วนของโจทก์ร่วมที่ 1 และเด็กชาย อ. บุตรผู้ตาย เป็นเงิน 2,080,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 1
โจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 1,040,000 บาท
จำเลยยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง ขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับมอบเช็คจำนวนเงิน 150,000 บาท จากบริษัทคูเนียร์ประกันภัย จำกัด ซึ่งรับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยขับ โจทก์ร่วมที่ 2 แถลงไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะแล้ว เห็นว่า จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี กำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อ 1 ครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและห้ามดื่มสิ่งมึนเมาทุกชนิด ให้จำเลยทำงานบริการสังคมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ภายในกำหนด 1 ปี (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56) ยกฟ้องคดีส่วนแพ่ง
โจทก์ร่วมที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คดีส่วนอาญาโทษปรับ 5,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ในคดีส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดไร้อุปการะ และค่าปลงศพ รวมเป็นเงิน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันกระทำละเมิดคือ วันที่ 3 มีนาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ร่วมที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงว่า นายน้อย ผู้ตาย สามีของโจทก์ร่วมที่ 1 มีส่วนประมาทด้วย เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า นายน้อยมีส่วนประมาทด้วย นายน้อยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของนายน้อยย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนนายน้อยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 กับยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางดวงใจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นอีก
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจากจำเลยนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “…คำขอของผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมิให้เรียกค่าธรรมเนียม” ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจากจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ เห็นควรคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของนางดวงใจ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้จำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสามศาลต่างให้เป็นพับ

Share