คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5165/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดตาม ป.ที่ดินฯ มาตรา 9 (1), 108 ทวิ เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้แม้จะไม่มีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีนี้แล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (1), 120 และ พ.ร.บ.พนักงานอัยการฯ มาตรา 11 (1) โดยมิต้องคำนึงว่าผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจะเป็นผู้ใด หรือได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่แท้จริงหรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินราชพัสดุของกรมราชรักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐสงวนไว้เพื่อประโยชน์ในการอบรมศึกษาของโรงเรียนบ้านน้ำเขียว อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลใช้ประโยชน์ของโรงเรียนบ้านน้ำเขียว สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติและกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง โดยจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองสร้างบ้านเรือนและทำสวนในทิ่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365, 91 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ และให้จำเลย ลูกจ้าง ผู้แทน คนงานและบริวารของจำเลย รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง จำคุก 1 ปี ให้จำเลย ลูกจ้าง ผู้แทน คนงาน หรือบริวารของจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ประกอบมาตรา 365, (3) เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่กฎหมายประสงค์ให้ลงโทษผู้ที่บุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้ที่บุกรุกสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงให้ยกคำขอของโจทก์ส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องในความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมาหรือไม่ จำเลยฎีกาว่ากระทรวงการคลังซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เกิดเหตุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ไม่ได้มอบอำนาจให้โรงเรียนบ้านน้ำเขียวและกรมธนารักษ์ดำเนินคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง อันเป็นที่ดินของรัฐสงวนไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาอบรมโรงเรียนบ้านน้ำเขียว สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 (1), 108 ทวิ เห็นว่า การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้แม้จะไม่มีคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีนี้แล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (1), 120 และพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (1) โดยมิต้องคำนึงว่าผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจะเป็นผู้ใด หรือได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่แท้จริงหรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share