แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
งานมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนั้น จะต้องปรากฏว่าการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด คดีเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า งานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสี่เป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ตามฟ้องได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับคดีนี้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามฟ้องได้ ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 15, 28, 31, 69, 70, 75, 76 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 6, 34 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ให้แผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 34 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จำคุก 4 เดือน และปรับ 150,000 บาท ฐานประกอบกิจการจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 6,000 บาท รวมทุกกระทงความผิดเป็นจำคุก 4 เดือน และปรับ 156,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 78,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้แผ่นวีซีดีและดีวีดีของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 758 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งสี่ และให้จ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “เห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า งานมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนั้น จะต้องปรากฏว่าการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด คดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า งานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสี่เป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ตามฟ้องได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับคดีนี้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามฟ้องได้ ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้และไม่จำต้องพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยในข้อหานี้อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
ส่วนความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายเทปและวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลดโทษปรับลงนั้น ปรากฏว่าขณะที่จำเลยยื่นอุทธรณ์นั้นมีพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 (4) บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 การพิจารณาว่าจำเลยจะอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานนี้ได้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ ซึ่งบัญญัติให้ระวางโทษปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39 เห็นว่า สำหรับโทษปรับที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้โดยปรับ 3,000 บาท นั้น พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 79 ระวางโทษปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ ในขณะที่พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 34 ให้ระวางโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับดังนั้น โทษปรับตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 จึงเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้โทษปรับตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 บังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ปรับ 3,000 บาท ตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 34 จึงชอบและเป็นคุณแก่จำเลยแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ให้ลดโทษปรับจึงฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง