คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7745/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้คำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งศาลต้องบันทึกไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง เป็นพยานเอกสารอย่างหนึ่งซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดหรือบริสุทธิ์ โจทก์จึงชอบที่จะอ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แต่การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้นำบันทึกคำเบิกความของ ว. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ และจ่าสิบตำรวจ ส. ผู้ได้รับบาดเจ็บ พยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมารับฟังประกอบการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดหรือไม่นั้นข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการสืบพยานโจทก์ในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบ ว. และจ่าสิบตำรวจ ส. พยานโจทก์ เนื่องจากความผิดของโจทก์ที่ละเลยเพิกเฉยไม่เอาใจใส่ในการส่งหมายเรียกให้พยานหรือนำพยานมาศาล จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรที่ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของ ว. และจ่าสิบตำรวจ ส. ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบพยานหลักฐานอื่นในชั้นพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5 ที่แก้ไขใหม่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังนั้น แม้จะย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลชั้นต้นก็ไม่อาจนำบันทึกคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้นมารับฟังประกอบการวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 73 , 74 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 86 , 90 , 91, 269 , 341 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 45
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 ให้ประทับฟ้อง ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า คำเบิกความของพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ชอบที่จะอ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟังคำเบิกความพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบการวินิจฉัยคดี จึงไม่ชอบ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจวินิจฉัยคำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบการวินิจฉัยคดีแล้ว การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบที่จะพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ เห็นว่า แม้คำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งศาลต้องบันทึกไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 วรรคหนึ่ง เป็นพยานเอกสารอย่างหนึ่งซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยทั้งสองมีผิดหรือบริสุทธิ์ โจทก์จึงชอบที่จะอ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก็ตาม แต่การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้นำบันทึกคำเบิกความของนางสาววิลามา ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ และจ่าสิบตำรวจสุธีร์หรือธนยศ ผู้ได้รับบาดเจ็บ พยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมารับฟังประกอบการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดหรือไม่ นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการสืบพยานโจทก์ในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบนางสาววิมาลาและจ่าสิบตำรวจสุธีร์หรือธนยศ พยานโจทก์ เนื่องจากความผิดของโจทก์ที่ละเลยเพิกเฉยไม่เอาใจใส่ในการส่งหมายเรียกให้พยานหรือนำพยานมาศาล จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร ที่ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของนางสาววิมาลาและจ่าสิบตำรวจสสุธีร์หรือธนยศในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบพยานหลักฐานอื่นในชั้นพิจารณาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/5 ที่แก้ไขใหม่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังนั้น แม้จะย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลชั้นต้นก็ไม่อาจนำบันทึกคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้นมารับฟังประกอบการวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสอง”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้บังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share