แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 248 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ฉบับแก้ไขใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม2534 เป็นต้นไป แต่คดีนี้สู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่19 มิถุนายน 2530 จึงนำกฎหมายฉบับแก้ไขใหม่มาใช้บังคับไม่ได้และฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อโจทก์มีส่วนในความประมาท จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องของโจทก์ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ด้วย
หมายเหตุ โจทก์ทั้งห้าได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 143 แผ่นที่ 2)
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 40,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 135)
จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 139)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 15มกราคม 2535 อันเป็นเวลาภายหลังที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 17)มีผลบังคับแล้ว เมื่อปรากฏว่าคดีนี้มีทุนทรัพย์ 54,850 บาทศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้เงินแก่โจทก์40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน กรณีจะต้องห้ามฎีกาหรือไม่ย่อมต้องถือตามกฎหมายที่มีผลบังคับอยู่ในขณะที่ยื่นฎีกานั้นเป็นสำคัญดังนั้นเมื่อคดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา ไม่เกินสองแสนบาท และฎีกาของจำเลยที่ 2 ล้วนแล้วแต่เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามฎีกาตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่แก้ไขใหม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ชอบแล้วให้ยกคำร้อง