แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การกระทำความผิดฐานรับของโจร ผู้กระทำไม่จำต้องรับทรัพย์ของกลางไว้ในความครอบครองของตนเอง เพียงแต่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ให้ อ. นั่งซ้อนท้าย บรรทุกโทรทัศน์ของกลางจะไปที่อำเภอดอนสัก โดยรู้อยู่ว่าเป็นโทรทัศน์ที่ อ. ลักมา ก็เป็นการช่วยพาเอาไปเสียอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานรับของโจรแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 335, 336 ทวิ, 357 ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โรงเรียนวัดสิงขร ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 14 สิงหาคม 2544 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา นักการภารโรงเข้าทำความสะอาดในห้องพักครู พบว่าสายยูกุญแจห้องพักครูโรงเรียนถูกงัด โทรทัศน์สีขนาด 20 นิ้ว ราคา 7,700 บาท หายไป นางบุศรินครูใหญ่โรงเรียนดังกล่าวไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ต่อมาร้อยตำรวจโทธงชัย เดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุโดยรถกระบะ ระหว่างทางพบจำเลยขับรถจักรยานยนต์และมีนายอำนวยหรือเขียว ซ้อนท้ายและอุ้มโทรทัศน์ ร้อยตำรวจโทธงชัยจึงติดตามไป จำเลยกับนายอำนวยเลี้ยวรถจักรยานยนต์เข้าไปในซอยตาทวนแล้วเลี้ยวเข้าไปในซอยบ้านซึ่งเป็นซอยตัน นายอำนวยวางโทรทัศน์เครื่องดังกล่าวไว้ที่หน้าบ้านซึ่งยังสร้างไม่เสร็จ จากนั้นจำเลยขับรถจักรยานยนต์แล่นสวนกับรถกระบะที่ร้อยตำรวจโทธงชัยขับติดตามมาและหลบหนีไป ร้อยตำรวจโทธงชัยยึดโทรทัศน์สีดังกล่าวไว้ ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า เป็นโทรทัศน์ของโรงเรียนวัดสิงขรที่ถูกลักเอาไปต่อมาในวันเดียวกันเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ที่สวนหลังบ้านของจำเลยและแจ้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนในสถานที่ราชการที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์นั้นทำบันทึกการจับกุมระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าร่วมกับนายอำนวยหรือเขียวลักทรัพย์ดังกล่าว ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยว่าร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนในสถานที่ราชการ โดยใช้ยานพาหนะ โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือรับของโจร บันทึกคำให้การระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหารับของโจร
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า นายอำนวยคนร้ายอีกคนหนึ่งให้การในชั้นสอบสวนว่า ร่วมกับจำเลยลักโทรทัศน์ของกลางมาจากโรงเรียนวัดสิงขร และนายอำนวยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า นายอำนวยบอกให้จำเลยทราบว่า รถยนต์ที่ติดตามมีเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยขับเร็วขึ้น จำเลยก็ทำตาม จำเลยไม่ได้บอกให้นายอำนวยลงจากรถและทิ้งโทรทัศน์ พยานหลักฐานจำเลยขัดแย้งกันเอง ที่จำเลยอ้างว่าลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมโดยไม่ทราบข้อความนั้น เป็นการกล่างอ้างง่าย ๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟังข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทราบว่านายอำนวยลักโทรทัศน์ของกลางมา จำเลยยังขับรถพานายอำนวยนำโทรทัศน์ของกลางจะไปที่อำเภอดอนสัก จึงมีความผิดฐานรับของโจร แต่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีนายอำนวยเบิกความเป็นพยานว่า นายอำนวยเป็นคนลักโทรทัศน์เพียงคนเดียว จำเลยไม่รู้เห็นด้วย วันรุ่งขึ้นนายอำนวยไปตามจำเลยให้บรรทุกโทรทัศน์ไปบ้านญาติที่อำเภอดอนสัก ระหว่างทางนายอำนวยจึงบอกว่านายอำนวยลักโทรทัศน์มา แสดงให้เห็นว่า จำเลยเพิ่งทราบในขณะที่กำลังขับรถมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จำเลยจึงขาดเจตนานั้น เป็นฎีกาที่ไม่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยฎีกาว่า นายอำนวยถูกฟ้องและให้การรับสารภาพว่าลักทรัพย์และคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อเหตุเกิดขึ้นคราวเดียวกันทรัพย์ของกลางอยู่ในความครอบของนายอำนวย จะถือว่าจำเลยช่วยพาไปเสียซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หาได้ไม่ เนื่องจากองค์ประกอบแห่งความผิดมุ่งเน้น “ซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด” เท่านั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดฐานรับของโจรนั้น เห็นว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจร ผู้กระทำไม่จำเป็นต้องรับทรัพย์ของกลางไว้ในความครอบครองของตนเอง เพียงแต่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งทรัพย์อันผู้อื่นได้มาโดยการกระทำความผิดการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ให้นายอำนวยนั่งซ้อนท้ายบรรทุกโทรทัศน์ของกลางจะไปที่อำเภอดอนสักโดยรู้อยู่ว่าเป็นโทรทัศน์ที่นายอำนวยลักมา ก็เป็นการช่วยพาเอาไปเสีย อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลลงโทษนายอำนวยฐานลักทรัพย์ไปแล้ว จะลงโทษจำเลยฐานรับของโจรอีกไม่ได้เป็นการเกินคำขอนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องการกระทำความผิดของจำเลยทั้งฐานหลักทรัพย์และรับของโจร ดังนั้น ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งตามที่ปรากฏจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ การที่นายอำนวยถูกลงโทษฐานลักทรัพย์ไปแล้ว หามีผลกระทบถึงการดำเนินคดีจำเลยแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน