คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอายุ 9 ปี แล้วจึงทำร้ายเพื่อปกปิดความผิดของตน โดยใช้ไม้ไผ่ที่ปลายมีตาแหลมคมขนาดกลมโตวัดโดยรอบที่โคนไม้ 6 เซนติเมตรครึ่งที่ปลายไม้ 5 เซนติเมตร ยาว 1 เมตรและอีกอันหนึ่งที่โคนไม้ 4 เซนติเมตรครึ่ง ที่ปลายไม้ 4 เซนติเมตรแทงที่คอมีโลหิตไหลกระทืบที่หน้าและท้องจนสลบ ปรากฏบาดแผลรวม 10 แห่ง คือ แก้มซ้าย หางตาซ้าย ในปากริมฝีปาก คอ ไหปลาร้าโดยเฉพาะที่ไหปลาร้าซ้ายฉีกขาดกว้าง 0.2 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร คอด้านซ้ายฉีกขาด กว้าง 0.5 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตรคอด้านขวาแผลที่ 1 ฉีกขาดกว้าง 0.2 เซนติเมตร ยาว 1 เซนติเมตรแผลที่ 2 กว้าง 0.2 เซนติเมตรยาว 2 เซนติเมตร จำเลยเชื่อว่าผู้เสียหายตายแล้วจึงหลบหนีไป ดังนี้ถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า หาใช่เป็นเพียงเจตนาทำร้ายไม่
ในกระทงความผิดข้อหาข่มขืนกระทำชำเรานั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอายุ 9 ปี แล้วใช้ไม้ปลายแหลมแทงทำร้ายโดยเจตนาฆ่าเพื่อปกปิดความผิดและหลีกเลี่ยงความผิดที่กระทำ แต่ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277, 289, 80 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 8

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 277 จำเลยอายุ 16 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ลงโทษตามมาตรา 277 จำคุก 3 ปีมาตรา 295 จำคุก 1 ปี ชั้นจับกุมจำเลยรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงลงโทษตามมาตรา 277 จำคุก 2 ปี มาตรา 295 จำคุก 8 เดือน รวมโทษจำคุกจำเลย 2 ปี 8 เดือน ริบไม้ของกลาง

จำเลยและโจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289, 80 ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ลงโทษจำคุก 25 ปี คำรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามคงให้จำคุก 16 ปี 8 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราอีก 2 ปีแล้วรวมโทษจำคุกจำเลย 18 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในกระทงความผิดข้อหาว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีกา จึงไม่รับวินิจฉัยให้

ส่วนข้อหาที่ว่าจำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายอีกกระทงหนึ่งนั้น เห็นได้ว่ามูลเหตุที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหายสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย และคงเกรงว่าผู้เสียหายจะนำความไปบอกกับคนอื่นให้ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้น และเพื่อเป็นการปกปิดความผิดของตน จำเลยจึงใช้ไม้ไผ่ที่ปลายมีตาแหลมคมเป็นไม้กลมโตขนาดวัดโดยรอบที่โคนไม้ 6 เซนติเมตรครึ่งที่ปลายไม้5 เซนติเมตร ยาว 1 เมตร และอีกอันหนึ่งที่โคนไม้ 4 เซนติเมตรครึ่ง ที่ปลายไม้4 เซนติเมตร แทงที่คอผู้เสียหายมีโลหิตไหล กระทืบที่หน้าและท้องผู้เสียหายซึ่งอายุเพียง 9 ขวบจนสลบ ปรากฏบาดแผลตามรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง รวม 10 แห่ง คือ แก้มซ้าย หางตาซ้าย ในปาก ริมฝีปาก คอ ไหปลาร้า โดยเฉพาะที่ไหปลาร้าซ้ายฉีกขาดกว้าง 0.2 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตรคอด้านซ้ายฉีกขาดกว้าง 0.5 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร คอด้านขวาแผลที่ 1 ฉีกขาดกว้าง 0.2 เซนติเมตร ยาว 1 เซนติเมตร แผลที่ 2 กว้าง 0.2 เซนติเมตรยาว 2 เซนติเมตร จำเลยเชื่อว่าผู้เสียหายถึงแก่ความตายแล้วจึงหลบหนีไปปล่อยให้ผู้เสียหายนอนสลบอยู่ตรงที่เกิดเหตุจนกระทั่งฟื้น และเมื่อร้อยตำรวจเอกอนันต์ วงษ์ทองทิว พนักงานสอบสวนไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ก็ปรากฏว่านอกจากจะพบหยดโลหิตแล้ว ยังพบไม้ไผ่ปลายแหลม 2 อัน มีโลหิตติดอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวจึงหาใช่เป็นเพียงเจตนาทำร้ายผู้เสียหายดังที่จำเลยฎีกาขึ้นมาแต่ประการใดไม่

พิพากษายืน

Share