คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4023/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับพิพาทระบุว่า “ถ้าผู้กู้ยืมผิดข้อตกลงในข้อหนึ่งข้อใดแห่งสัญญานี้ผู้กู้ยืมยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้นบรรดาที่ผู้ให้กู้ยืมจะพึงได้รับอันเนื่องมาจากความผิดข้อตกลงของผู้กู้ยืม รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเตือน เรียกร้อง ทวงถาม ดำเนินคดี และบังคับการชำระหนี้ด้วยจนเต็มจำนวนทุกอย่างทุกประการ”ดังนี้ เมื่อตามข้อสัญญาดังกล่าวแล้วมิได้กำหนดจำนวน เงินไว้แน่นอนในกรณีจำเลยผู้กู้ผิดสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบถึงค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถาม การที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีค่าใช้จ่ายในการติดตาม ทวงถามหนี้รายนี้เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ตามข้อสัญญาที่กำหนดให้โจทก์ผู้ให้กู้ยืมสามารถเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยไม่เกินจำนวนที่ประกาศ กระทรวงการคลังกำหนดไว้ได้เมื่อมิใช่เบี้ยปรับเพราะ ตามสัญญากู้ยืมเงินรายนี้กำหนดให้โจทก์ผู้ให้กู้มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แม้จำเลยผู้เป็นลูกหนี้จะมิได้ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินที่ค้างชำระและต้นเงินค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินจำนวนที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนดไว้ได้ ค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่ง ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนตามกฎหมายและสั่ง ในคำพิพากษาให้ฝ่ายใดชดใช้แก่ฝ่ายใดหรือให้เป็นพับกันไปก็ได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161,167 และตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับพิพาทระบุว่า ให้ผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวไม่ว่างวดหนึ่งงวดใดผู้กู้ยืมยอมให้ถือว่าผิดนัดในหนี้ทั้งหมดและยอมให้ผู้ให้กู้ยืมฟ้องร้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดตลอดจนค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและค่าเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการผิดนัดผิดสัญญานี้จากผู้กู้ยืมจนครบถ้วนได้ทันที และถ้าผู้กู้ยืมผิดข้อตกลงในข้อหนึ่งข้อใดแห่งสัญญานี้ผู้กู้ยืมยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้นบรรดาที่ผู้ให้กู้ยืมจะพึงได้รับอันเนื่องมาจากความผิดข้อตกลงของผู้กู้ยืม รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเตือน เรียกร้อง ทวงถาม ดำเนินคดี และบังคับการชำระหนี้ด้วยจนเต็มจำนวนทุกอย่างทุกประการซึ่งเป็นการตกลงให้จำเลยผู้กู้ต้องชดใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ผิดแผกแตกต่างไปจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงใช้บังคับมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้เงิน 946,661.45 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 640,115 บาทนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองเอาที่ดินโฉนดเลขที่ 12405 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองจนครบ
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน811,479.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปีของต้นเงิน 589,726 บาท และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 4,389 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จหากไม่ชำระให้บังคับจำนองเอาที่ดินโฉนดเลขที่ 12405พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองจนครบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,389 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้และมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระเงินส่วนที่ขาดจนครบถ้วน จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์บางส่วนแล้วผิดนัดโดยยังคงเป็นหนี้โจทก์คือต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน589,726 บาท ค่าเบี้ยประกันภัย 3 งวด รวม 4,389 บาทและดอกเบี้ยคดีนี้ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาทต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้รายนี้จำนวน 10,000 บาท แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้นำสืบว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามเป็นค่าอะไรบ้าง จำนวนเท่าใดก็ดี แต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 5 ซึ่งระบุว่า “ถ้าผู้กู้ยืมผิดข้อตกลงในข้อหนึ่งข้อใดแห่งสัญญานี้ ผู้กู้ยืมยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้นบรรดาที่ผู้ให้กู้ยืมจะพึงได้รับอันเนื่องมาจากความผิดข้อตกลงของผู้กู้ยืม รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเตือน เรียกร้อง ทวงถามดำเนินคดี และบังคับการชำระหนี้ด้วยจนเต็มจำนวนทุกอย่างทุกประการ” ดังนี้ เมื่อโจทก์มีการติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ย่อมมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นตามปกติเช่นเงินค่าโทรศัพท์ค่าจ้างบุคคลากร จึงเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสองได้ตามสัญญานั้น เห็นว่า ตามข้อสัญญาดังกล่าวแล้วมิได้กำหนดจำนวนเงินไว้แน่นอนโจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบถึงค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายข้างต้น
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินที่ค้างชำระและต้นเงินค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือไม่ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 ระบุว่า”ผู้กู้ยืมยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ได้กู้ยืมตามข้อ 1 ให้แก่ผู้ให้กู้ยืม ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15.50 บาทต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือนพร้อมต้นเงินที่ต้องชำระคืนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ณ สำนักงานของผู้ให้กู้ยืมและหากภายหลังวันทำสัญญานี้ผู้ให้กู้ยืมประสงค์จะเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยซึ่งไม่เกินจำนวนที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนดไว้ผู้กู้ยืมยินยอมให้ผู้ให้กู้ยืมเรียกดอกเบี้ยตามสัญญานี้เพิ่มขึ้นได้โดยไม่มีข้อโต้แย้งแต่ประการใดและให้มีผลบังคับทันที และให้ถือปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าผู้กู้ยืมจะได้ชำระหนี้ตามสัญญานี้ให้แก่ผู้ให้กู้ยืมจนครบถ้วน ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้กู้ยืมทราบ” และข้อ 7ระบุว่า “ผู้กู้ยืมสัญญาว่าจะเอาประกันภัยทรัพย์สินที่จำนองนี้ไว้กับบริษัทประกันภัยที่ผู้ให้กู้ยืมยินยอมเห็นชอบ ทั้งยินยอมให้ผู้ให้กู้ยืมอำนาจจัดการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยแทนได้ตลอดจนเพิ่มหรือลดวงเงินทุนประกันได้ตามความจำเป็นสำหรับเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ฉบับนั้น หากผู้ให้กู้ยืมออกเงินทดรองจ่ายแทนไปก่อนผู้กู้ยืมยินยอมชดใช้คืนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเต็มตามจำนวนพร้อมทั้งดอกเบี้ยด้วยในอัตราดังกล่าวในข้อ 2” นอกจากนี้ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการกำหนดสถาบันการเงินและอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2526ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2526 กำหนดอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่บริษัทประกันชีวิตอาจคิดจากผู้กู้ยืมได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีตามเอกสารหมาย จ.3 เห็นว่าตามข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ให้กู้ยืมสามารถเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยไม่เกินจำนวนที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนดไว้ได้ดังกล่าวข้างต้นนั้นหาใช่เบี้ยปรับดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ เพราะตามสัญญากู้ยืมเงินรายนี้กำหนดให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แม้จำเลยผู้เป็นลูกหนี้จะมิได้ผิดนัดชำระหนี้ ดังนี้โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินที่ค้างชำระและต้นเงินค่าเบี้ยประกันในอัตราร้อยละ19 ต่อปี ได้ แต่อย่างไรก็ดีปรากฏตามหลักฐานทางบัญชีว่าโจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันภัยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537วันที่ 2 มีนาคม 2538 และวันที่ 13 มีนาคม 2539 ดังนี้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป
ส่วนปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทนายความได้ตามสัญญากู้ยืมเงินและโจทก์ต้องจ่ายค่าทนายความเป็นเงิน 36,000 บาท นั้น เห็นว่า ค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนตามกฎหมายและสั่งในคำพิพากษาให้ฝ่ายใดชดใช้แก่ฝ่ายใดหรือให้เป็นพับกันไปก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161, 167และตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามสัญญากู้ยืมเงินข้อ 3 วรรคสอง ระบุว่า “ถ้าผู้นั้นยืมผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นไม่ว่างวดหนึ่งงวดใดผู้กู้ยืมยอมให้ถือว่าผิดนัดในหนี้ทั้งหมดและยอมให้ผู้ให้กู้ยืมร้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดตลอดจนค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและค่าเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการผิดนัดผิดสัญญานี้จากผู้กู้ยืมจนครบถ้วนได้ทันที” และข้อ 5 ระบุว่า “ถ้าผู้กู้ยืมผิดข้อตกลงในข้อหนึ่งข้อใดแห่งสัญญานี้ผู้กู้ยืมยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้นบรรดาที่ผู้ให้กู้ยืมจะพึงได้รับอันเนื่องมาจากความผิดข้อตกลงของผู้กู้ยืม รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเตือนเรียกร้องทวงถาม ดำเนินคดีและบังคับการชำระหนี้ด้วยจนเต็มจำนวนทุกอย่างทุกประการ” ข้อความดังกล่าวแล้วเป็นการตกลงให้จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ผิดแผกแตกต่างไปจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงใช้บังคับมิได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 589,726 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มกราคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 305,375.70 บาท จำนวนหนึ่ง กับเงินค่าเบี้ยประกันภัยรวม 4,389 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี ของต้นเงินค่าเบี้ยประกันภัยแต่ละปีจำนวน 1,463 บาทนับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 วันที่ 2 มีนาคม 2538และวันที่ 13 มีนาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยต้นเงินค่าเบี้ยประกันภัยแต่ละปีดังกล่าวแล้วคิดถึงวันฟ้องรวมกันไม่เกิน 1,170.75 บาท อีกจำนวนหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share