คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 279/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้สัญญากู้เงินซึ่งเป็นมูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยจะรวมอยู่ในกลุ่มสินทรัพย์ของโจทก์ซึ่งถูกองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเข้าควบคุมกิจการและได้ขายให้แก่บริษัท ก. ไปแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการโอนสิทธิเรียกร้องมูลหนี้ที่ออกเช็คที่ถูกบังคับโอนตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงินพ.ศ. 2540 มาตรา 27 ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากมูลหนี้ที่ออกเช็คจนกว่าจะได้มีการใช้เงิน เมื่อจำเลยไม่ได้ชำระเงินตามสัญญากู้เงิน ย่อมถือไม่ได้ว่ามูลหนี้ตามสัญญากู้เงินที่จำเลยได้ออกเช็คนั้นสิ้นผลผูกพัน โดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะสามารถดำเนินกิจการและรับชำระหนี้จากลูกหนี้ได้หรือไม่ คดีจึงไม่เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง ระหว่างนัดจำเลยทั้งสามยื่นคำให้การ จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อมูลหนี้ตามเช็คพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้รวมอยู่ในกลุ่มสินทรัพย์ที่โจทก์ได้ขายให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคินจำกัด (มหาชน) กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทคดีนี้ให้แก่บริษัทดังกล่าวแล้ว มูลหนี้ตามเช็คพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามจึงสิ้นผลผูกพัน โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายอีกต่อไป สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปให้จำหน่ายคดี

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาไปตามรูปคดี

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเพราะคดีเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 หรือไม่ เห็นว่า แม้สัญญากู้เงินซึ่งเป็นมูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้รวมอยู่ในกลุ่มสินทรัพย์ของโจทก์ซึ่งถูกองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเข้าควบคุมกิจการและได้ขายให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ไปแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการโอนสิทธิเรียกร้องมูลหนี้ที่ออกเช็คที่ถูกบังคับโอนตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 27 ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากมูลหนี้ที่ออกเช็คแต่อย่างใดจนกว่าจะได้มีการใช้เงินเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้ชำระเงินตามสัญญากู้เงินอันเป็นมูลหนี้ออกเช็คดังกล่าวแล้ว ดังนี้ยังถือไม่ได้ว่ามูลหนี้ตามสัญญากู้เงินที่จำเลยทั้งสามได้ออกเช็คนั้นสิ้นผลผูกพัน โดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะสามารถดำเนินกิจการและรับชำระหนี้จากลูกหนี้ได้หรือไม่คดีจึงไม่เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ดังนี้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share