คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3086/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าของตึกที่ตั้งสำนักงานจำเลยได้ตัดน้ำ ตัดไฟ และปิดสำนักงาน ทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2543 เมื่อโจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างจากจำเลยด้วยเหตุดังกล่าวจึงถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ 22มิถุนายน 2543 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป มิใช่วันที่ 5 กรกฎาคม2543 ซึ่งเป็นวันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง
ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ ดังนั้นที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกสัญญาจ้างแรงงานจากจำเลย แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเช่นว่านั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่โจทก์ผู้ขอจะต้องนำสืบโดยสัญญาจ้างแรงงานนั้นจำเลยได้ยอมรับแล้วทั้งโจทก์ก็มีพยานบุคคลอื่นมานำสืบด้วยว่าค่าใช้จ่ายเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานนั้น เป็นกรณีที่โจทก์อ้างข้อกฎหมายปะปนมากับข้อเท็จจริงเพื่อที่จะให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงให้เป็นไปตามที่โจทก์อ้าง ซึ่งข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างก็ได้ความเพียงว่าค่าใช้จ่ายเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างเท่านั้น มิได้มีข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าเป็นค่าใช้จ่ายประเภทใด เพื่อกิจการใดและโจทก์จะเบิกจากจำเลยได้ในเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาอย่างไร อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์เบิกความลอย ๆว่าโจทก์มีสิทธิได้ค่านายหน้าร้อยละ 15 ของค่าตอบแทนที่บริษัทลูกค้าที่โจทก์นำมาจ่ายให้จำเลยเป็นเงินเดือนละ 45,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ไม่มีพยานบุคคลหรือพยานเอกสารอื่นสนับสนุน ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้า ดังนั้นที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้นำ จ. มาสืบยืนยันว่าจำเลยตกลงให้ค่านายหน้าแก่ลูกจ้างฝ่ายที่ปรึกษาผู้นำลูกค้ามาให้จำเลย การสืบพยานของโจทก์เท่าที่สืบได้ในเรื่องค่านายหน้าก็น่าจะสมบูรณ์แล้ว หาใช่เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่ ที่มิได้ปรากฏว่าเบิกค่านายหน้าก็เพราะจำเลยไม่มีเงินนั้น ก็เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงดังที่โจทก์อุทธรณ์ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญปรับโครงสร้างหนี้ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 100,000 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันกำหนดจ่ายเงินเดือนของเดือนมิถุนายน 2543 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 300,000 บาทมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เป็นเงิน 100,000 บาท ในการทำงานกับจำเลย จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม2543 จำนวน 116,667 บาท และจำเลยมีข้อตกลงว่าเมื่อโจทก์ทำงานครบ 1 ปี โจทก์มีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ 10 วัน ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม2543 โจทก์ทำงานครบ 1 ปี แต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนได้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 10 วัน เป็นเงิน 33,333 บาทจำเลยตกลงจ่ายค่าใช้จ่ายแก่โจทก์เดือนละ 50,000 บาท ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2542ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ซึ่งโจทก์ทำงานมาได้ 12 เดือน แล้วโจทก์สิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 600,000 บาท จำเลยตกลงจ่ายค่านายหน้าให้แก่โจทก์เดือนละ 45,000บาท ระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2542 ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 โจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจำนวน 6 เดือน เป็นเงิน 270,000 บาท นอกจากนี้จำเลยมีข้อตกลงว่าถ้าโจทก์ทำงานครบ 1 ปี จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ 1 เดือนของค่าจ้างระหว่างวันที่1 กรกฎาคม 2542 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2543 โจทก์ทำงานมาครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับเงินโบนัส 1 เดือน เป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 100,000 บาท ค่าใช้จ่าย 600,000 บาท ค่านายหน้า 270,000 บาท เงินโบนัส 100,000 บาท ค่าจ้าง 116,667 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี33,333 บาท และค่าชดเชย 300,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยขาดนัด

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่กรรมการจำเลยถูกตำรวจจับกุม เจ้าของสถานที่ตั้งสำนักงานจำเลยตัดน้ำตัดไฟ และปิดสำนักงานในวันที่ 22 มิถุนายน 2543 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2543 โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2543 ถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2543 แต่โจทก์ขอมาเพียงเท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน จึงให้เท่าที่ขอ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึง 5 กรกฎาคม 2543 เงินโบนัส ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าใช้จ่าย และค่านายหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์100,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 100,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อใด เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2543 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกรรมการของจำเลย ครั้นวันที่ 22 มิถุนายน 2543 เจ้าของตึกที่ตั้งสำนักงานจำเลยได้ตัดน้ำ ตัดไฟและปิดสำนักงาน ทำให้ลูกจ้างของจำเลยรวมทั้งโจทก์ไม่สามารถเข้าไปทำงานในสำนักงานในวันนั้นได้ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2543 เนื่องจากเจ้าของตึกที่ตั้งสำนักงานจำเลยได้มาตัดน้ำ ตัดไฟ และปิดสำนักงานเมื่อกรรมการของจำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2543 และสำนักงานของจำเลยถูกปิดลูกจ้างของจำเลยรวมทั้งโจทก์ไม่สามารถเข้าไปทำงานในสำนักงานได้ตั้งแต่วันที่ 22มิถุนายน 2543 เป็นต้นมา ทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้นับตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2543 เมื่อโจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างจากจำเลยด้วยเหตุดังกล่าวจึงถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2543 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป มิใช่วันที่ 5 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างดังที่โจทก์อ้าง อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเดือนละ 50,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ ดังนั้นที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกสัญญาจ้างแรงงานจากจำเลย แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเช่นว่านั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่โจทก์ผู้ขอจะต้องนำสืบโดยสัญญาจ้างแรงงานนั้นจำเลยได้ยอมรับแล้ว ทั้งโจทก์ก็มีพยานบุคคลอื่นมานำสืบด้วยว่าค่าใช้จ่ายเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานนั้น เป็นกรณีที่โจทก์อ้างข้อกฎหมายปะปนมากับข้อเท็จจริงเพื่อที่จะให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงให้เป็นไปตามที่โจทก์อ้างซึ่งข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างก็ได้ความเพียงว่าค่าใช้จ่ายเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างเท่านั้น มิได้มีข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าเป็นค่าใช้จ่ายประเภทใด เพื่อกิจการใดและโจทก์จะเบิกจากจำเลยได้ในเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาอย่างไร อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าหรือไม่ เห็นว่าศาลแรงงานกลางพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่าโจทก์มีสิทธิได้ค่านายหน้าร้อยละ 15 ของค่าตอบแทนที่บริษัทยูเนียนเมโทรลิสซิ่ง จำกัดผู้เป็นลูกค้าที่โจทก์นำมาจ่ายให้จำเลยเป็นเงินเดือนละ 45,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือนไม่มีพยานบุคคลหรือพยานเอกสารอื่นสนับสนุนข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้า ดังนั้นที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้นำพยานนายจรรยา จรรยาสุทธิวงศ์มาสืบยืนยันว่าจำเลยตกลงให้ค่านายหน้าแก่ลูกจ้างฝ่ายที่ปรึกษาผู้นำลูกค้ามาให้จำเลยการสืบพยานของโจทก์เท่าที่สืบได้ในเรื่องค่านายหน้าก็น่าจะสมบูรณ์แล้ว หาใช่เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่ ที่มิได้ปรากฏว่าเบิกค่านายหน้าก็เพราะจำเลยไม่มีเงินนั้นก็เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงดังที่โจทก์อุทธรณ์ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เช่นกัน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างเดือนมิถุนายน2543 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 5กรกฎาคม 2543 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 16,667 บาท แก่โจทก์ และในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเป็นว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2543 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2543 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 116,667 บาท แก่โจทก์ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต แต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเพียงว่าโจทก์ทำงานถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2543 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างของวันที่ 1 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2543 มิได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาถึงค่าจ้างในเดือนมิถุนายน 2543 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อความรวดเร็วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่สั่งให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยใหม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยจนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2543 และถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2543 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 21 มิถุนายน2543 เป็นเงิน 70,000 บาท อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง 70,000 บาท แก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share