แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 67 บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนเฉพาะกรณีที่ลูกจ้างมิได้มีความผิดตามมาตรา 119 การที่กฎหมายกำหนดให้นำความผิดตามมาตรา 119 มาประกอบการพิจารณาการได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้าง เพราะความผิดดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่จะชี้ว่านายจ้างเลิกจ้างด้วยเจตนากลั่นแกล้งไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปจนครบ 1 ปีหรือไม่ ถ้าลูกจ้างไม่มีความผิดตามมาตรา 119 แต่ถูกเลิกจ้าง ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรและเป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างไม่อาจทำงานต่อไปได้และต้องเสียสิทธิที่จะได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 30 ดังนั้น ในปีที่เลิกจ้างแม้ลูกจ้างจะทำงานยังไม่ครบ 1 ปี นายจ้างจะต้องชดใช้สิทธิที่ลูกจ้างต้องเสียไปจากการกระทำโดยไม่ชอบของนายจ้างด้วยการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ การจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนดังกล่าวจะพึงมีได้เฉพาะกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง และลูกจ้างไม่มีความผิดตามมาตรา 119เท่านั้น หาได้นำมาใช้บังคับแก่กรณีลูกจ้างลาออกจากงานโดยความสมัครใจด้วยไม่ เพราะการลาออกโดยความสมัครใจของลูกจ้างย่อมไม่เป็นการกลั่นแกล้งของนายจ้าง นายจ้างจึงไม่ต้องชดใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างต้องเสียไปจากการลาออกโดยการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่ลาออกตามส่วนตามมาตรา 67
ลูกจ้างที่ลาออกจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างรวมทั้งในปีก่อนและจะได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่เพียงใด ต้องเป็นไปตามมาตรา 30 และมาตรา 56 ในปีที่ จ. ลาออก โจทก์ในฐานะนายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง 13 วัน และก่อนลาออกโจทก์อนุญาตให้ จ. ลาหยุดพักผ่อนประจำปี 8 วัน การหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าว เป็นการหยุดตามที่โจทก์และ จ. ตกลงกันโดยสุจริต จึงเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีโดยชอบของลูกจ้าง แต่ถ้าขณะลาออก จ. ยังไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปีหรือหยุดแล้วแต่ยังไม่ครบ 13 วัน ซึ่งเป็นกรณีนายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีทั้ง 13 วันหรือบางส่วนไว้ล่วงหน้าและเป็นวันหลังจากที่ จ. ลาออก จ. ก็จะไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและไม่มีสิทธิให้นายจ้างนำวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้หยุดมาเฉลี่ยเพื่อจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่ลาออกได้ แต่เมื่อ จ. หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิและตามวันที่ได้ตกลงกับโจทก์ไปแล้วก่อนลาออก โจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเต็มจำนวน 8 วันให้แก่ จ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 62/2543ลงวันที่ 28 เมษายน 2543
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นายจิรพัฒน์ ลุกยี เป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2530 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 31,240 บาท และมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2543 ได้13 วัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2543 นายจิรพัฒน์ลาหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 8 วัน โดยโจทก์อนุญาต เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 นายจิรพัฒน์ลาออกโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 ถือได้ว่าโจทก์ในฐานะนายจ้างและนายจิรพัฒน์ในฐานะลูกจ้างได้ตกลงกันให้นายจิรพัฒน์หยุดพักผ่อนประจำปี 2543 รวม 8 วัน จึงเป็นการหยุดพักผ่อนประจำปีที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการใช้สิทธิของลูกจ้างโดยสุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิหักค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2543 ที่นายจิรพัฒน์ได้ลาหยุดไปแล้วก่อนลาออกคำสั่งของจำเลยชอบแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่านายจิรพัฒน์ ยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์2543 เพื่อลาหยุดตั้งแต่วันที่ 26 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2543 ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 นายจิรพัฒน์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 อันเป็นการปิดบังข้อเท็จจริงที่รู้อยู่แล้วในขณะยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีว่าประสงค์จะลาออก ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นายจิรพัฒน์ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีก่อนยื่นใบลาออกขณะยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีนายจิรพัฒน์อาจจะยังไม่คิดลาออกก็ได้ การใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีของนายจิรพัฒน์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต อุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 67 บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีเท่านั้น มิได้กำหนดว่าเป็นค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ได้ใช้สิทธิหยุดแล้วหรือยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุด โจทก์จึงนำวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่นายจิรพัฒน์หยุดไปแล้วก่อนลาออกจำนวน8 วัน มารวมคำนวณเพื่อจ่ายค่าจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างได้นั้น เห็นว่า มาตรา 67 บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามมาตรา 119 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิและรวมทั้งวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามมาตรา 30 บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนเฉพาะกรณีที่ลูกจ้างมิได้มีความผิด ตามมาตรา 119 การที่กฎหมายกำหนดให้นำความผิดตามบทบัญญัติในมาตรา 119 มาประกอบการพิจารณาการได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้าง เพราะความผิดดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่จะชี้ว่า นายจ้างเลิกจ้างด้วยเจตนากลั่นแกล้งไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปจนครบ 1 ปีหรือไม่ ถ้าลูกจ้างไม่มีความผิดตามมาตรา 119 แต่ถูกเลิกจ้าง ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรและเป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างไม่อาจทำงานต่อไปได้และต้องเสียสิทธิที่จะได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 30 ดังนั้น ในปีที่เลิกจ้างแม้ลูกจ้างจะทำงานยังไม่ครบ 1 ปี นายจ้างจะต้องชดใช้สิทธิที่ลูกจ้างต้องเสียไปจากการกระทำโดยไม่ชอบของนายจ้างด้วยการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ การจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนดังกล่าวจะพึงมีได้เฉพาะกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างและลูกจ้างไม่มีความผิดตามมาตรา 119 เท่านั้น หาได้นำมาใช้บังคับแก่กรณีลูกจ้างลาออกจากงานโดยความสมัครใจด้วยไม่ เพราะการลาออกโดยความสมัครใจของลูกจ้างย่อมไม่เป็นการกลั่นแกล้งของนายจ้าง นายจ้างจึงไม่ต้องชดใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างต้องเสียไปจากการลาออกโดยการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่ลาออกตามส่วนตามมาตรา 67 ลูกจ้างที่ลาออกจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างรวมทั้งในปีก่อนและจะได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่เพียงใด ต้องเป็นไปตามมาตรา 30 และมาตรา 56 ซึ่งมาตรา 30 บัญญัติให้ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วัน ทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดให้ล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน โดยจะกำหนดหรือตกลงกันวันใดในต้นปี กลางปี หรือปลายปี และเป็นช่วง ช่วงละกี่วัน หรือเพียงช่วงเดียวครบจำนวนที่มีสิทธิหยุดก็ได้ทั้งสิ้น และในปีต่อมานายจ้างจะกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่า 6 วันทำงานก็ได้ ในปีที่นายจิรพัฒน์ลาออกโจทก์ในฐานะนายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง 13 วัน และก่อนลาออกโจทก์อนุญาตให้นายจิรพัฒน์ลาหยุดพักผ่อนประจำปี 8 วัน การหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวเป็นการหยุดตามที่โจทก์และนายจิรพัฒน์ตกลงกันโดยสุจริต จึงเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีโดยชอบของลูกจ้างแต่ถ้าขณะลาออกนายจิรพัฒน์ยังไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปี หรือหยุดแล้วแต่ยังไม่ครบ 13 วัน ซึ่งเป็นกรณีนายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีทั้ง 13 วัน หรือบางส่วนไว้ล่วงหน้าและเป็นวันหลังจากวันที่นายจิรพัฒน์ลาออก นายจิรพัฒน์ก็จะไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและไม่มีสิทธิให้นายจ้างนำวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้หยุดมาเฉลี่ยเพื่อจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่ลาออกได้ เมื่อนายจิรพัฒน์หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิและตามวันที่ได้ตกลงกับโจทก์ไปแล้วก่อนลาออก โจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเต็มจำนวน 8 วันให้แก่นายจิรพัฒน์คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน