คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2716/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 ทวิ วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย วางหรือฝากเงินค่าทดแทนนั้น” จึงเป็นกรณีที่กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จะนำกรณีผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาปรับใช้บังคับมิได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินในวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 แต่โจทก์ไม่ได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามวันที่จำเลยที่ 1 กำหนด จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินดังกล่าวไปวางหรือฝากไว้โดยพลัน ถือได้ว่าวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ต้องวางหรือฝากเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 17,077,937.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยเงินฝากประเภทเผื่อเรียกพิเศษของธนาคารออมสินในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองเข้าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 13,990,275 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์จำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 4,629,387.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์นับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์สมควรได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินจากจำเลยที่ 1 เพียงใด เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในกรณีดังต่อไปนี้
(1) การใช้ที่ดินปักหรือตั้งเสาเพื่อเดินสายส่งไฟฟ้าหรือสายจำหน่ายไฟฟ้า
(2) การใช้ที่ดินปักหรือตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยหรืออุปกรณ์อื่น
(3) การใช้ที่ดินที่ประกาศกำหนดเป็นเขตเดินสายไฟฟ้า
(4) การกระทำตามมาตรา 29 (3)
จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กฎหมายบัญญัติไว้กว้างๆ ว่า ให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมให้แก่เจ้าของหรือผู้ครองครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งต่างมีวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนให้เป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่น ดังนั้นเมื่อพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะให้นำมาใช้ในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้ เหมือนอย่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง การกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง นั้น จึงควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน หรือผู้ทรงสิทธิอื่นด้วย กล่าวคือ ให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ใน
วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม
สำหรับคดีนี้ โจทก์ไม่ได้ฎีกาว่า ที่ดินของโจทก์มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดสูงกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีมติปรับเพิ่มราคาประเมินตามบัญชีกำหนดจำนวนทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ประกาศใช้ในปี 2539 ถึง ปี 2542 ให้อีกอัตราร้อยละ 100 ของราคาประเมินเป็นบัญชีราคาที่ดินอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดังนั้น
1. เป็นที่ดินติดถนนสายเชียงรากน้อย-ปทุมธานี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 สายผ่านศูนย์
ศิลปาชีพบางไทร) ระยะ 80 เมตร ไร่ละ 3,000,000 บาท
2. ที่ดินต่อจาก 1. ระยะไม่เกิน 80 เมตร ไร่ละ 2,400,000 บาท
3. ที่ดินติดซอยทางรพยนต์เข้าออกได้ ระยะ 80 เมตร ไร่ละ 1,000,000 บาท
4. ที่ดินนอกจาก 1. – 3. ไร่ละ 500,000 บาท
ตามลำดับตามบัญชีราคาที่ดินฯ เอกสารหมาย ล.1 (สิ่งแนบ 2) เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ โจทก์คงโต้เถียงแต่เพียงว่า ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์อยู่ในรัศมี 160 เมตร จากถนนสายเชียงรากน้อย-ปทุมธานี จัดอยู่ในราคาประเมินที่ดิน หน่วยที่ 2 ไร่ละ 2,400,000 บาท และคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินได้มีมติให้ที่ดินที่อยู่ในรัศมี 200 เมตร จากถนนสายเชียงรากน้อย-ปทุมธานี ในท้องที่อำเภอบางไทรเป็นที่บ้าน ดังนั้น โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินประเภทที่บ้านในอัตราร้อยละ 90 ของราคาประเมินไร่ละ 2,400,000 บาท ส่วนจำเลยที่สองฎีกาว่า ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์อยู่ติดซอยไม่ติดถนนสายเชียงรากน้อย-ปทุมธานี ตามหลักเกณฑ์ในบัญชีราคาที่ดินอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เอกสารหมาย ล.1 กำหนดให้อยู่ในหน่วยราคาที่ดินในข้อ 3 และข้อ 4 ไร่ละ 1,000,000 บาท และไร่ละ 500,000 บาท ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์เป็นที่นาและไม่เข้ากรณีที่คณะกรรมการฯ กำหนดให้ถือเป็นที่บ้าน ดังนั้น เงินค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสองจ่ายให้แก่โจทก์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯ กำหนดจึงเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว จึงเป็นปัญหาว่า ที่ดินหน่วยที่ 2 ตามบัญชีราคาที่ดินอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่กำหนดว่าที่ดินต่อจากหน่วยที่ 1 ระยะ ไม่เกิน 80 เมตร จนถึงไม่เกิน 160 เมตร แม้ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินติดถนนสายเชียงรากน้อย-ปทุมธานี ด้วยดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ เห็นว่าราคาประเมินที่ดินตามบัญชีกำหนดจำนวนทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของสำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ฝ่ายจำเลยนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการทำบัญชีราคาที่ดินตามบัญชีราคาที่ดินท้ายสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการฯ เอกสารหมาย ล.1 (สิ่งแนบ 1 และสิ่งแนบ 2) นั้น กำหนดราคาประเมินที่ดิน โดยแบ่งเป็นหน่วยตามที่ตั้งของที่ดินตามศักยภาพของที่ดินที่อยู่ติดถนนเป็นสำคัญที่ดินที่สามารถเข้าออกถนนสายหลักโดยตรงที่ความเจริญสูงกว่าก็กำหนดราคาประเมินให้อยู่ในหน่วยที่มีราคาสูงกว่าราคาประเมินดินอยู่ติดถนนสายรองหรือที่ไม่อยู่ติดถนนลดหลั่นกันลงมา ราคาประเมินที่ดินจะสูงหรือต่ำกว่าที่ดินในบริเวณใกล้เพียงใดขึ้นอยู่กับว่าที่ดินแปลงนั้นอยู่ติดถนนหรือไม่ติดถนนเป็นหลักสำคัญ ดังจะเห็นได้ชัดเจนจาก บัญชีราคาที่ดินอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิ่งแนบ 1 ท้ายสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการฯ เอกสารหมาย ล.1 ที่กำหนดหน่วยของที่ดินและราคาไว้ดังนี้
1. ที่ดินติดถนนพหลโยธิน
1.1 ที่ดินในระยะ 80 เมตร จากเขตถนนพหลโยธิน ไร่ละ 8,000,000 บาท
1.2 ที่ดินต่อจากหน่วย 1.1 ไปจนสุดแปลง ไร่ละ 4,000,000 บาท
1.3 ที่ดินในหน่วยที่ 1.2 ซึ่งมีที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบและไม่มีทางเข้าออก (ที่ดินตาบอด) ไร่ละ 2,400,000 บาท ฯลฯ
ดังนั้น คำว่า ต่อจาก 1 ระยะไม่เกิน 80 เมตร ในบัญชีราคาที่ดินอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หน่วยที่ 2 ไร่ละ 2,400,000 บาท สิ่งแนบ 2 ท้ายสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการฯ เอกสารหมาย ล.1 จึงต้องหมายถึงที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินตามหน่วยที่ 1 ซึ่งอยู่ติดถนนสายเชียงรากน้อย-ปทุมธานี ซึ่งส่วนที่อยู่ในระยะ 80 เมตร กำหนดราคาไร่ละ 3,000,000 บาท ส่วนที่ห่างจากถนนดังกล่าวเกิน 80 เมตร ขึ้นไปและอยู่ในระยะ 80 เมตร ถัดไปกำหนดราคาไร่ละ 2,400,000 บาท เมื่อที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินอยู่ติดซอยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดติดถนนสายเชียงรากน้อย-ปทุมธานี จึงเป็นที่ดินที่อยู่ในหน่วยที่ 3 และหน่วยที่ 4 ที่ฝ่ายจำเลยกำหนดราคาไว้ไร่ละ 1,000,000 บาท และไร่ละ 500,000 บาท ตามลำดับ ส่วนที่ดินของโจทก์จัดอยู่ในประเภทที่บ้านหรือที่นานั้น ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ที่ดินทั้งสองแปลงขณะซื้อมาเมื่อปี 2531 มีสภาพเป็นที่นาและปัจจุบันก็ยังเป็นที่นาอยู่ และนายโพธิ์ เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานทำนาอยู่ในที่ดินทั้งสองแปลงตั้งแต่ยังเป็นของนางเชื่อมเจ้าของเดิม เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงมาแล้ว ก็อนุญาตให้พยานทำนาตลอดมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อพิจารณาตามรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2540 ตามเอกสารหมาย ล.11 ก็ระบุว่าที่ดินทั้งสองแปลงมีสภาพเป็นที่นา นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่ามีสิ่งปลูกสร้างใดๆ ในที่ดินทั้งสองแปลงและไม่มีการปรับปรุงหรือพัฒนาที่ดินเพื่อเปลี่ยนสภาพจากที่นาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น คงมีเพียงความคิดริเริ่มของโจทก์ที่เบิกความว่า ต้องการซื้อที่ดินไว้ประกอบกิจการโรงงาน และปลูกบ้านพักอาศัย แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการจึงต้องฟังว่าที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์เป็นที่นา ที่โจทก์ฎีกาว่า คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ ได้มีมติที่ประชุมในข้อ 3 ว่า ในรัศมี 200 เมตร จากถนนสายเชียงรากน้อย-ปทุมธานีในท้องที่ อำเภอบางไทรให้เป็นประเภทที่บ้าน หรือจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินในอัตราร้อยละ 90 ของราคาประเมิน ตามเอกสารหมาย ล.1 หรือ ล.13 หน้า 7 แต่การพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ ดังกล่าว ก็เป็นเพียงการพิจารณาในเบื้องต้นยังต้องนำไปสู่ชั้นตอนการอนุมัติของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงทำให้น่าสงสัยว่า หากคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ มีมติให้ที่ดินของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเป็นประเภทที่บ้านแล้ว เหตุใดจำเลยที่ 1 จึงอนุมัติให้จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์เป็นประเภทที่นา ในประเด็นข้อนี้จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาโต้แย้งว่า คำว่า “รัศมี 200 เมตร” ตามบันทึกมติการประชุมเอกสารหมาย ล.13 หน้า 7 เป็นการพิมพ์บันทึกมติการประชุมที่ผิดพลาด ซึ่งที่ถูกต้องคือ “ในระยะ 200 เมตร” จากถนนพหลโยธินและวงแหวนตะวันตก และที่ดินที่ติดถนนสายเชียงรากน้อย-ปทุมธานี ในระยะ 20 เมตร ตามที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ เสนอ ความข้อนี้สอดคล้องกับคำเบิกความของนายสมภพ หัวหน้าหน่วยกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เบิกความว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน ครั้งที่ 2 พยานได้เสนอแนวทางในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดิน จากเดิมในที่ประชุมกำหนดให้ที่ดินที่ติดถนนสายพหลโยธินและถนนวงแหวนตะวันตกในระยะ 80 เมตร กำหนดให้เป็นที่บ้าน ซึ่งจะได้รับค่าทดแทนการใช้ที่ดินอัตราร้อยละ 90 ของราคาที่กำหนด เพิ่มขึ้นเป็นที่ดินห่างจากแนวถนนทั้งสองฝั่งดังกล่าวในระยะ 200 เมตร ให้เป็นประเภทที่บ้าน นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าวนายอำเภอบางไทร ยังเสนอให้จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่ติดถนนนายเชียงรากน้อย-ปทุมธานี ในระยะ 200 เมตร ในอัตราร้อยละ 90 ของราคาที่กำหนดด้วย ซึ่งประธานที่ประชุมเห็นด้วย ตามรายงานการประชุม เอกสารหมาย ล.6 หน้าที่ 6 และ 7 แสดงให้เห็นถึงหลักเกณฑ์การกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินได้อย่างชัดเจนว่า เฉพาะที่ดินที่ติดถนนสายเชียงรากน้อย-ปทุมธานี ในระยะ 200 เมตร จากแนวถนนทั้งสองฝั่งจึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเป็นประเภทบ้าน เมื่อที่ดินของโจทก์ไม่ได้อยู่ติดถนนดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงอนุมัติให้จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเป็นประเภทที่นา ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ มีมตินั่นเอง เพราะหากแปลความหมายของมติที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ ว่า ในรัศมี 200 เมตร รวมถึงที่ดินที่ไม่ติดกับถนนด้วยแล้ว จำเลยที่ 1 ก็คงอนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์เป็นประเภทที่บ้านมาแต่ต้น ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะอนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินในประเภทที่นาโดยปราศจากเหตุผลแต่อย่างใด เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินของโจทก์เป็นประเภทที่นาจึงถูกต้องแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ที่ดินของโจทก์ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าเกือบทั้งหมดเหลือเนื้อที่เพียง 3 งาน 39.10 ตารางวา จึงเห็นได้ว่าโจทก์ไม่สามารถจะนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย รวมทั้งการที่จะปลูกสร้างบ้านหรือโรงงานตามที่โจทก์นำสืบ ประกอบกับด้านทิศตะวันออกของที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ยายรวมกันประมาณ 301 เมตร ขนานและอยู่ห่างจากถนนสายเชียงรากน้อย-ปทุมธานี ไม่มาก จึงเห็นควรกำหนดราคาที่ดินทั้งสองแปลงเฉลี่ยเท่ากันไร่ละ 1,000,000 บาท หรือตารางวาละ 2,500 บาท เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าและที่ดินที่เหลือนอกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้ารวมที่ดินทั้งสองแปลงเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 15 ตารางวา แบ่งเป็นส่วนที่ตั้งเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงเนื้อที่ 1 งาน 32.30 ตารางวา หรือ 132.30 ตารางวา เงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินอัตราเต็มร้อยตารางวาละ 2,500 บาท เป็นเงินจำนวน 330,750 บาท และเป็นประเภทที่นาเนื้อที่ 8 ไร่ 82.70 ตารางวา เงินค่าทดแทนจ่ายร้อยละ 50 ของตารางวาละ 2,500 บาท คือตารางวาละ 1,250 บาท เป็นเงินจำนวน 4,103,375 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 4,434,125 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 3,087,437.50 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 1,346,687.50 บาท ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นเป็นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตั้งแต่เมื่อใด โดยจำเลยที่ ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ เกิดจากโจทก์ไม่ไปรับเงินจากจำเลยที่ 1 เอง เมื่อโจทก์ไม่ไปรับเงินจำเลยที่ 1 ยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไปนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30 ทวิ วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย วางหรือฝากเงินค่าทดแทน” จึงเป็นกรณีที่กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จะนำกรณีผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้บังคับมิได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินในวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 ตามเอกสารหมาย จ.5 แต่โจทก์ไม่ได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามวันที่จำเลยที่ 1 กำหนด จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินดังกล่าวไปวางหรือฝากไว้โดยพลัน ถือได้ว่า วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ต้องวางหรือฝากเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไป คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,346,687.50 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราและวันที่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนด และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกาโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท นอกจรากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share