แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ลาออก จำเลยจะต้องจ่ายบำเหน็จให้โจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานฯ แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้นั้น เมื่อข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯฟ้องของโจทก์จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหน้าที่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์มีอำนาจฟ้องต่อ ศาลแรงงานกลางได้
เมื่อคดีที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยยังอยู่ในระหว่างพิจารณา ข้อที่ว่าโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยหรือไม่และค่าเสียหายมีจำนวนเท่าใดยังไม่ยุติ ค่าเสียหายจึงไม่แน่นอน จำเลยจะนำเอาค่าเสียหายดังกล่าวมาหักจากเงินบำเหน็จของโจทก์หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ลาออกจากงานและมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับจำเลยว่าด้วยบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๙ โจทก์ติดต่อทวงถามแล้วจำเลยไม่ยอมจ่ายให้ขอให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเพราะการที่โจทก์ออกจากงานไม่เกี่ยวกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโจทก์ยังไม่ได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของการประปาเนื่องจากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหาย จำเลยจึงฟ้องโจทก์เป็นจำเลยเรียกค่าเสียหายต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งมีคำสั่งอายัดเงินบำเหน็จของโจทก์ไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา จำเลยจึงมีสิทธิหักเงินบำเหน็จของโจทก์เป็นค่าเสียหายตามข้อบังคับจำเลย ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องต่อศาลแรงงานกลางได้ คดีที่จำเลยฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยยังอยู่ในระหว่างพิจารณา จำเลยไม่มีสิทธิหักบำเหน็จชดใช้ค่าเสียหายพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตามฟ้องให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อบังคับการประปานครหลวงฉบับที่ ๔๗ ว่าด้วยบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๕ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยโจทก์ลาออก จำเลยจะต้องจ่ายบำเหน็จให้โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้ตามข้อบังคับดังกล่าว ฟ้องของโจทก์จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหน้าที่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลแรงงานกลางได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา ๘(๑)
คดีที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย โจทก์ต่อสู้คดี คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณา ข้อที่ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยหรือไม่ และค่าเสียหายมีจำนวนเพียงเท่าใดยังไม่ยุติ ค่าเสียหายจึงไม่แน่นอน จำเลยจะนำเอาค่าเสียหายดังกล่าวมาหักจากเงินบำเหน็จหาได้ไม่
พิพากษายืน